top of page

Coaching Like a Professional Coach โค้ชแบบมืออาชีพ

Updated: Jan 21


วงการโค้ชมืออาชีพเติบโตอย่างน่าสนใจ ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย สหพันธ์โค้ชนานาชาติ (ICF – International Coach Federation) มีสมาชิกมากขึ้นทุกๆปี เมื่อเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ 1995 มีสมาชิกเพียงแค่ 70 คน ปัจจุบันมีถึง 30,578 คน จาก 138 ประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ประมาณ 49% ของสมาชิกทั้งหมด สำหรับในทวีปเอเชีย ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกมากเป็นอันดับที่หก รองจาก ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น และที่ฮ่องกง

เราสามารถแบ่งกลุ่มโค้ชได้สามกลุ่ม คือ โค้ชจากภายนอกองค์กร (External Coach) โค้ชที่ทำหน้าที่โค้ชภายในองค์กร (Internal Coach) และ ผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์กรทีโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง (Manager as Coach) กลุ่มที่หนึ่งและสอง ส่วนใหญ่เป็นโค้ชมืออาชีพ และเรียนรู้ทักษะการโค้ชมาอย่างครบถ้วนเพื่อให้สามารถทำหน้าที่โค้ชที่ดีและมีประสิทธิผล

การเรียนรู้สมรรถนะของโค้ชที่ดีตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้ตนเองและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า นำมาซึ่งรายได้ไม่ขาดมือ เมื่อศึกษาจากแหล่งข้อมูลหรือสถาบันต่างๆ หรือโค้ชที่มีประสบการณ์ พบว่าสมรรถนะของโค้ชที่ดีมีความคล้ายคลึงกัน ดิฉันขออิงจากสมรรถนะของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ

(Credit: https://coachfederation.org/)

โดยทั่วไป โค้ชมืออาชีพ จะวางตัว เรียนรู้และฝึกปฏิบัติสมรรถนะในการโค้ช ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ดังนี้คือ

กลุ่มที่หนึ่งคือ มีพื้นฐานความรู้ด้านการโค้ชอย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น โค้ชอธิบายคำจำกัดความและกระบวนการของการโค้ชได้ชัดเจน แยกแยะได้ว่าลูกค้าคาดหวังให้ใช้การโค้ชหรือเป็นรูปแบบอื่นๆ กันแน่ นอกจากนั้นโค้ชที่ดีจะปฏิบัติตามหลักการและจริยธรรมของโค้ช เช่น ไม่เป็นฝ่ายบังคับหรือยื่นคำแนะนำให้ผู้ได้รับการโค้ชทำในสิ่งที่มาจากความคิดและเหตุผลของโค้ชเอง

ในด้านคำจำกัดความของการโค้ช ผู้เชี่ยวชาญต่างคนและต่างสถาบันอาจมีคำจำกัดความแตกต่างกันไป โค้ชควรคุยกับโค้ชชี่ ให้เข้าใจตรงกันก่อน ว่าบทบาทหน้าที่ของทั้งคู่คืออะไร และกระบวนการการโค้ชเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนการเดินทางไกลร่วมกัน ควรตกลงกันก่อนว่า ใครทำหน้าที่อะไร เราจะแวะตรงไหนระหว่างทาง เราต้องใช้อะไรระหว่างการเดินทางบ้าง

กลุ่มที่สอง คือความสามารถในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพแห่งความไว้วางใจ

เมื่อมาพบกัน โค้ชวางตัวเป็นที่น่าไว้วางใจ สร้างศรัทธา มีมนุษยสัมพันธ์ รู้ว่าอะไรควรพูดและไม่ควรพูด ไม่พูดในสิ่งที่จะทำลายความเชื่อมั่น เช่นการกล่าวถึงบุคคลที่สามในทางลบ อาจทำให้โค้ชชี่กลัว

“บรรยากาศการสื่อสารที่ดีควรปลอดภัย เพราะจะนำไปสู่การเปิดใจและการพูดคุยที่ตรงไปตรงมา”

โค้ชสามารถโฟกัสหรือมุ่งความสนใจไปที่ความคิด ความรู้สึก ศักยภาพและการพัฒนาของโค้ชชี่ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงกังวลผลงานการโค้ชของตนเอง ควรยืดหยุ่นตามเส้นทางของโค้ชชี่ได้ โดยไม่ยึดติดกับมุมมองของตนเอง

กลุ่มที่สาม สามารถใช้วิธีการสื่อสารแบบโค้ช ซึ่งมีทั้งการฟัง การใช้คำถาม และคำพูด

ด้านการฟัง เป็นผู้ฟังที่ใส่ใจและพยามยามทำความเข้าใจ ทั้งสิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมาและไม่ได้พูดออกมา ฟังเชิงลึกเพื่อรับรู้ค่านิยม ความเชื่อต่างๆ แต่เป็นการรับฟังโดยปราศจากอคติ เงื่อนไข หรือการสรุปตัดสินใดๆ

การสนทนาในการโค้ช เน้นการสือสารแบบสองทาง และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของโค้ชชี่โดยใช้คำถามที่ดีของโค้ช คำถามที่ดีจะมาจากการฟังแบบใส่ใจและลึกซึ้งพอ คำถามจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของโค้ชชี่ การถามควรเน้นไปที่อนาคต เน้นการค้นพบหนทางที่แตกต่าง กระตุ้นความมุ่งมั่น คำถามอาจท้าทายสมมุติฐานของโค้ชชี่ได้ เพื่อกระตุ้นความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม

เมื่อโค้ชพูด การพูดของโค้ชจะกระชับ ชัดเจน โค้ชอาจใช้เรื่องราวเล่าขาน หรืออุปมาอุปไมย หากเห็นว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่โค้ชชี่ต้องการ คำพูดของโค้ชจะให้เกียรติโค้ชชี่และเน้นเชิงบวกเสมอ ดังนั้นเมื่อโค้ชชี่ติดอยู่ในกรอบที่ไม่สร้างสรรค์ ขึ้นจากหลุมพรางนั้นด้วยตนเองไม่ได้ โค้ชสามารถใช้คำพูดปรับกรอบความคิด (Reframe) ของโค้ชชี่ เพื่อกระตุ้นการก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเชี่ยวชาญ

กลุ่มที่สี่ สามารถอำนวยให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ และนำไปสู่ผลลัพธ์

โค้ชช่วยให้โค้ชชี่ค้นพบ หรือตระหนักในข้อที่เคยมองข้ามบางอย่าง เนื่องจากบางครั้งการอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมานาน ทำให้คนเราเข้าใจหรือมองเห็นสิ่งต่างๆเกี่ยวกับตนเองหรือรอบๆตัวจาก “สิ่งที่ตนเองเห็น ไม่ใช่จากสิ่งที่เป็นจริง” ดังนั้นหากโค้ชรีบด่วนสรุปว่าสิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมาเบื้องต้นคือความหมายทั้งหมดแล้ว การเรียนรู้อาจไม่เกิดคุณค่าต่อโค้ชชี่อย่างแท้จริง

โค้ชที่ดีควรยืดหยุ่นหากต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้และสถานการณ์ของโค้ชชี่ สนับสนุนการลงมือทำทันทีของโค้ชชี่ พยายามตรึงความสนใจ ใส่ใจของโค้ชชี่ในเป้าหมายและสิ่งที่สำคัญต่อเขา โดยให้โค้ชชี่รับผิดชอบ ในการลงมือทำตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนดไว้

โค้ชสามารถถามคำถามเพื่อติดตามการลงมือปฏิบัติที่ได้รับปากไว้ในครั้งก่อน กล่าวชื่นชมในสิ่งที่เขาลงมือทำหรือมีความคืบหน้า และชงคำถามเชิงบวกกระตุ้นวินัยหากเขาไม่ได้ทำตามที่ตกลงกัน

ไม่ว่าจะเป็นโค้ชหรือไม่ หากเราฝึกปฏิบัติสมรรถนะดังกล่าว เช่นนำมาใช้ในการตั้งเป้าหมายในชีวิตตนเองให้บรรลุผลลัพธ์อย่างสร้างสรรค์ นำมาใช้ในการเป็นคู่สนทนาที่ดีกับคนในครอบครัว กับเพื่อนร่วมงาน นอกจากรายได้ดีแล้ว ยังช่วยทำให้มีความสุขมากขึ้นด้วยนะคะ

©Copyright - All rights reserved.

About the author; Atchara (Cara) Juicharern is a winner of Woman Leadership Award and an accomplished leadership and executive coach who has been also developing executives and leaders in the organizations to be successful in coaching. She has trained thousands of executives and leaders from all types of business industries.

With her passion to support leaders and organizations to be successful in creating coaching and mentoring cultures, she also conducts significant coaching studies. She is frequently invited to speak about the coaching trends and the future of coaching in various leadership and HR forums.

Her best-selling book "Leader as Coach" is the first Thai language book that brings practical and simplified coaching methods and conversation to leaders and has received a foreword by the world number 1 Coaching Guru and Thought Leader - Dr. Marshall Goldsmith.

More articles in newspaper and business magazines by Atchara (Cara)

Contact us: +662 197 4588-9

Email: info@aclc-asia.com

www.aclc-asia.com

******************************


304 views
bottom of page