The Four Generations
คนในรุ่น Veterans เติบโตมาในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง พวกเขาทำงานหนัก ให้ความสำคัญกับความมั่นคงในการทำงาน มีความเคารพและยอมรับนับถือผู้นำตามตำแหน่งงาน มีความภักดีในงานและองค์กร ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ พวกเขาจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง ใช้เงินสดมากกว่าที่จะใช้เครดิตหรือการเป็นหนี้
คนในรุ่น Baby Boomers เติบโตมาในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตและการศึกษามีความก้าวหน้า คนยุคนี้จึงได้รับการศึกษาที่เป็นระบบ ในวัยหนุ่มสาว พวกเขาเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ เช่น บทบาทของสตรีที่มากขึ้นในธุรกิจ การที่ทั้งหญิงและชายสามารถหารายได้และความก้าวหน้าในงานได้เหมือนๆกัน ดังนั้นความเป็นอยู่ในครอบครัวเปลี่ยนไป เพราะทั้งชายและหญิงทำงานและรับผิดชอบตนเองได้ ในบางประเทศเช่นที่สหรัฐอเมริกา มีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น คนรุ่นนี้มีความกระตือรือร้นในการออกเสียงและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม
คนในรุ่น Generation X ประกอบด้วยกลุ่มคนที่เป็นบุตรของ รุ่น Baby Boomers พวกเขาได้เรียนรู้ความผิดพลาดในการใช้จ่ายจากพ่อแม่ จึงระมัดระวังด้านการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เติบโตมาพวกเขาได้เห็นการเลิกจ้างงานขององค์กรต่างๆ ทั้งที่บุคลากรรุ่นเก่ามีความภักดีต่อองค์กรมาก คนกลุ่มนี้จึงลดความเชื่อถือเรื่องความมั่นคงในการทำงานที่ใดที่หนึ่งตลอดการทำงาน การที่ทั้งพ่อและแม่มีภารกิจในงานและอยู่นอกบ้านเสียส่วนใหญ่ ทำให้คนในรุ่นนี้ ใช้ชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นอย่างมีอิสระมากขึ้น มีลักษณะพฤติกรรมชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work-life Balance) มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะ ทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง ไม่พึ่งพาใคร มีความคิดเปิดกว้าง รับฟังข้อติติง เพื่อการปรับปรุงและ พัฒนาตนเอง
คนในรุ่น Generation Y ได้รับการศึกษาที่ดี และเติบโตมากับเทคโนโลยี การใช้ชีวิตมีความรวดเร็ว สะดวกสบาย เช่น เมื่ออยากคุยกับเพื่อน พวกเขามีช่องทางมากมายในการพูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ท โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน หรือระบบเชคอินอัตโนมัติผ่านช่องทางออนไลน์ คนรุ่นนี้จึงคาดหวังให้องค์กรมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่น (Work-life Flexibility) และให้ความก้าวหน้าในงานที่รวดเร็วเช่นกัน พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่มีการศึกษามากขึ้น พ่อแม่เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้โดยไม่โดนตำหนิ และการใช้วิธีการโน้มน้าวในการเลี้ยงดูมากกว่าการสั่งหรือใช้ไม้เรียว บางครั้งจึงทำให้คนรุ่นนี้มักมองตนเองเป็นศูนย์กลาง และเรียนรู้ว่าสามารถเรียกร้องเพื่อตนเองได้ ในการทำงานคนรุ่นนี้อาจยอมแลกให้ได้มาซึ่งความอิสระ การได้แสดงความสามารถอย่างรวดเร็ว และการเข้าถึงเทคโนโลยีดีๆ มากกว่าที่จะรักษาความมั่นคงในการทำงานที่ใดที่หนึ่งนานๆ
อย่างไรก็ตาม พวกเขาเติบโตมากับข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นทางด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งได้เผชิญกับภัยพิบัติต่างๆในยุคของตน พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับบทบาทการเป็นพลเมืองที่ดี
***เราจะเห็นว่าการเลี้ยงดูและสภาวะแวดล้อมส่งผลกระทบให้คนแต่ละวัยเติบโตมาด้วยความคิดที่ต่างกัน และมีค่านิยมต่างกัน การมองด้วยความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มาดูกันว่า คนแต่ละวัยมีแรงจูงใจเหมือนและต่างกันอย่างไร และมีแนวทางปรับการสื่อสารเข้าหากันอย่างไร
Baby Boomers
แรงจูงใจ
สิ่งที่เป็นแรงจูงใจคือ ให้ความใส่ใจในการยกย่องเขาแบบให้ผู้อื่นรับทราบด้วย การขอความเห็นของพวกเขา และบรรยากาศที่เห็นพ้องต้องกัน รางวัลพิเศษที่แสดงถึงความขอบคุณในการทุ่มเทมานาน รางวัลที่บอกได้ถึงสถานภาพที่สูงขึ้นเช่น รถประจำตำแหน่ง บัญชีล่วงหน้าใช้จ่ายในงาน
ถอดใจ
สถานการณ์ที่กลุ่มนี้ไม่ชอบคือ เผชิญความขัดแย้ง แสดงความเห็นที่ต่างจากผู้อื่น การให้ feedback ที่ตรงเกินไปทำให้เขาเสียความรู้สึก
ข้อดี
มีจิตบริการ ยินดีที่จะทำงานหนัก ใช้ความพยายาม แสดงความเป็นผู้ร่วมทีมที่ให้ความร่วมมือ
ตัวอย่างการสื่อสาร เพื่อสร้างแรงจูงใจ
“การอุทิศตนของคุณเป็นเรื่องดี ทำให้คุณแตกต่างจากผู้อื่น”
“ประสบการณ์ของคุณ มีความสำคัญ”
การสนทนา
คุยตัวต่อตัว ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทที่เขาควรทำต่อผลกระทบในภาพใหญ่
Generation X
แรงจูงใจ
บรรยากาศที่สร้างแรงจูงใจ คือมีการพูดคุยหาทางออกร่วมกันแบบ win-win ไม่ใช้ความอาวุโสมาตัดสินว่าความคิดของผู้มีตำแหน่งสูงกว่าคือคำตอบสุดท้ายเพียงอย่างเดียว เปิดโอกาสให้สร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ระยะยาว
ถอดใจ
สิ่งที่บั่นทอนแรงจูงใจคือ ทำงานกับคนที่ไม่หือ ไม่อือ ไม่สื่อสาร ไม่รับผิดชอบในการพัฒนาความสามารถของตน คนที่ไม่ยืดหยุ่น เครียด เป็นทางการจนเกินไป หรือวัฒนธรรมที่ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่ชอบใช้การบริหารแบบกดดัน หรือการจี้ประชิดตัว ไม่ชอบรื้ออดีต มองลบ ไม่ชอบคนที่สนใจเพียง “ทำอย่างไร” โดยลืมว่า ผลลัพธ์คืออะไร
ข้อดี
เปิดรับนวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ ไม่พึ่งพาใคร ปรับตัวได้ดี มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ไม่รู้สึกหวาดกลัวในการคุยกับผู้ใหญ่หรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่า
ตัวอย่างการสื่อสาร เพื่อสร้างแรงจูงใจ
“เรามีเทคโนโลยีทันสมัย” “เราให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น” “ทำอย่างที่คุณเห็นควร”
การสนทนา
ใช้การสื่อสารผ่านเทคโนโลยีหรือตัวต่อตัวก็ได้ แต่ควรเปิดให้เขาได้หาหนทางหรือได้ใช้ความคิดก่อน และให้แสดงความคิดเห็นด้วย
Generation Y
แรงจูงใจ
คนกลุ่มนี้จะสนุกในการทำงานที่บรรยากาศไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ยืดหยุ่นบ้าง ไม่เน้นการจับผิด แบบผิดเล็กผิดน้อยกับเรื่องเวลา เรื่องสไตล์การทำงาน และชั่วโมงการทำงาน การได้ลองทำอะไรใหม่ ได้แสดงความสามารถ
ของตน และรุ่นพี่ช่วยประกบสอนให้เก่งเร็วๆ
ถอดใจ
สิ่งที่บั่นทอนแรงจูงใจคือ ไม่มี feedback ให้อย่างรวดเร็ว ไม่สอนงาน ไม่ชมเชย มีข้อจำกัดและกฎระเบียบเรื่องเวลางาน หรือการแต่งกายมากไป
ข้อดี
มองโลกในแง่ดี มุ่งมั่น เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี และทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน.
ตัวอย่างการสื่อสาร เพื่อสร้างแรงจูงใจ
“คุณจะร่วมงานกับคนที่ทันสมัย และมีความคิดสร้างสรรค์” “คุณสามารถเรียนรู้และสร้างความแตกต่างได้ไม่ยาก และสามารถเปลี่ยนแปลงที่นี่ให้ดีขึ้นได้”
การสนทนา
อธิบายให้เห็นเป้าหมายที่สอดคล้องกันทั้งส่วนตัวและในการทำงาน ให้ feedback ในการทำงานกับเขาอย่างรวดเร็ว ใช้วิธีการพูดที่โน้มน้าวให้เห็นเหตุผลที่เชื่อมโยงกัน แนะนำหรือ mentor พวกเขาในเรื่อง Social Skills เช่น ในสถานการณ์การวางตัวกับผู้ใหญ่ หรือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเช่น ลูกค้า
เนื่องจากปัจจุบัน มีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของวัย ในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ควรพิจารณาด้วยว่า เราไม่ควรเน้นความแตกต่างมากไป จนลืมการมองหาสิ่งที่เรามีเหมือนและคล้ายกัน เพราะการจะลดช่องว่างระหว่างวัย ย่อมเริ่มมาจากการมองหาสิ่งที่เหมือนกัน
***ที่สำคัญและเราควรหลีกเลี่ยงการเหมารวมหรือสมมุติฐานอย่างรวดเร็ว (Stereotype) ว่าทุกๆคนที่เป็นวัยนั้นๆจะต้องมีนิสัยหรือความชอบแบบนั้นเสมอไป การใช้ข้อมูลเป็นแนวทางเพื่อพูดคุยกัน และค้นพบตัวตนจริงๆมีความสำคัญมากว่า และการที่เราทราบจุดแข็งของคนแต่ละวัย ก็จะช่วยให้องค์กรสนับสนุนจุดแข็งของเขาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนความก้าวหน้า การพัฒนา และเพิ่มสมรรถนะของทีมงานได้
Tips ในการทำงานกับคนทุกวัยและการปรับทัศนคติเพื่อความสบายใจของตนเองคือ
เข้าใจและยอมรับ เมื่อเห็นข้อแตกต่าง
แสดงให้เห็นว่าเราเปิดประตูให้ทุกวัยมาพูดคุยกับเราได้ เพื่อศึกษากันและกัน
ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ
มองหาด้านดีของคนๆนั้น
หากพบพฤติกรรมที่ส่งผลลบต่อลูกค้าหรือธุรกิจ เมื่อตั้งกฎระเบียบขึ้นมา ควรให้การสื่อสารด้วยว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ ควรอธิบายด้วยว่าสำคัญอย่างไร และให้ตัวอย่างของพฤติกรรมที่คาดหวังว่าเป็นอย่างไร
ปัจจุบัน ในองค์กรมีผู้นำหลักๆ สองวัย อีกวิธีในการช่วยให้คนต่างวัยทำงานร่วมกัน และรุ่นพี่เองใส่ใจและสอนรุ่นน้องมากขึ้น คือการทำให้ทั้งคู่เข้าใจความคาดหวังของกันและกัน รู้ว่าต้องโค้ชรุ่นน้องอย่างไร
ปัจจุบันมีแบบประเมินให้คนทั้งสองกลุ่ม เมื่อกรอกแบบประเมินแล้ว จะพบว่าแต่ละคนให้คุณค่าอะไรเป็นอันดับต้นๆ และรองลงมา และมีคำแนะนำในการบริหารจัดการดูแลคนต่างรุ่นให้ เพื่อความรวดเร็วและสะดวกมากขึ้นในการพัฒนาภาวะผู้นำของคนทั้งสองรุ่น
“ถึงแม้แต่ละวัยจะมีความต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกวัยมีเหมือนกัน
คือได้รับการยอมรับ และได้รับโอกาสในการพัฒนา จากผู้ที่ทำงานด้วยและจากองค์กร”
©Copyright - All rights reserved.
About the author; Atchara (Cara) Juicharern is a winner of Woman Leadership Award and an accomplished leadership and executive coach who has been also developing executives and leaders in the organizations to be successful in coaching. She has trained thousands of executives and leaders from all types of business industries.
With her passion to support leaders and organizations to be successful in creating coaching and mentoring cultures, she also conducts significant coaching studies. She is frequently invited to speak about the coaching trends and the future of coaching in various leadership and HR forums.
Her best-selling book "Leader as Coach" is the first Thai language book that brings practical and simplified coaching methods and conversation to leaders and has received a foreword by the world number 1 Coaching Guru and Thought Leader - Dr. Marshall Goldsmith.
Contact us: +662 197 4588-9
Email: info@aclc-asia.com
www.aclc-asia.com
******************************