top of page

Gamification (What does coaching learn from gamification?)

Updated: Jun 25, 2022


Gamification เป็นหนึ่งในเทคนิคทางการตลาดที่ใช้ในการดึงดูดใจลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย และฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นการนำเกมเข้ามาใช้ แต่เมื่อค้นหาไปถึงที่มาของคำนี้ อันที่จริงแล้ว Gamification ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการใช้เกมเลย แต่เราใช้คำว่า Gamification กับกิจกรรมที่สามารถดึงดูดใจ และการสร้างพฤติกรรมที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจวิดีโอเกมใช้เทคนิคการตรึงใจและดึงดูดใจในการทำให้คนกลับมาเล่นอย่างต่อเนื่องมาก่อน

ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านช่องทาง on-line ซึ่งเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่า ผู้เรียนสนใจเรียนจริงไหม ตั้งใจขนาดใด และทำแบบฝึกหัดต่างๆด้วยตนเองหรือไม่ การนำ Gamification มาใช้ เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องใช้การควบคุม

ในธุรกิจสายการบินหรือโรงแรม การสะสมไมล์จนได้บัตรที่มีสถานะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ใช้รูปแบบ Gamification เช่นเดียวกัน หรือภายในองค์กร เราก็สามารถนำ Gamification มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เช่น การกระตุ้นความร่วมมือ การสนับสนุนให้คนสละเวลามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการกระตุ้นให้คนเปิดรับกับกระบวนการใหม่ๆ

เทคนิคของ Gamification คือ การกระตุ้นแรงจูงใจจากทั้งภายนอก และจากภายในตัวของบุคคลเอง จากภายนอกเช่น ระบบรางวัล หรือการให้คะแนน ส่วนการกระตุ้นแรงจูงใจจากภายในตัวคน เช่น การให้อิสระในทางเลือกต่างๆ การเชื่อมโยงกับผู้อื่นจนกลายเป็นสังคมของผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน รวมถึงการยกระดับความท้าทายเพื่อให้เห็นว่าความสามารถของตนเองมีความคืบหน้า เป็นการแข่งกับตนเอง และอาจมีการเปรียบเทียบให้เห็นผลลัพธ์ของตนเองกับของผู้อื่น เพื่อกระตุ้นให้อยากแข่งขันต่อไป

Gamification มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

  • สามารถติดตามความคืบหน้าได้ ซึ่งอาจจะใช้คะแนน และรูปกราฟต่างๆ

  • มีการระบุให้ทราบทุกครั้งที่มีความสำเร็จ โดยอาจมีรางวัล มีการชมเชยด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ

  • มีการสร้างแรงกระตุ้นด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นผลลัพธ์ของตนกับผู้อื่น ซึ่งองค์ประกอบนี้ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะใช้หรือไม่ เพราะต่างจิต ต่างใจ คนที่ไม่ชอบการแข่งขันก็มีเช่นกัน

  • มีการเพิ่มความท้าทาย ความยาก ที่ต้องใช้ความสามารถมากขึ้น เป็นขั้นตอนขึ้นไป เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้สนใจต่อเนื่อง

  • สร้างระบบให้มีการสนทนาในกลุ่ม โดยธรรมชาติคนเราชอบสื่อสารกับคนที่มีความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน มีความสนใจใกล้เคียงกัน การกระตุ้นด้วยวิธีนี้จึงช่วยสร้างระบบการสนับสนุนกันและกัน

  • การช่วยให้ปะติดต่อเรื่องราว เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมที่ทำกับประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อตนเองเท่านั้น แต่อาจหมายถึงประโยชน์ต่อองค์กร หรือเป็นการช่วยสังคมด้วย ซึ่งเรามักเห็นได้จากเกมต่างๆว่า มักจะสร้างเรื่องราวให้ผู้เล่นเป็นฮีโร่ในเรื่อง เพื่อไปช่วยชีวิตหรือทำประโยชน์อะไรบางอย่างที่มีความสำคัญต่อส่วนรวม

ในการโค้ช บ่อยครั้งที่เราเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ในบางกรณีมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ได้รับการโค้ช หรือโค้ชชี่ (Coachee) ได้ก้าวข้ามความกลัวของตนเองและได้ลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆอย่างจริงจัง หรืออาจช่วยให้โค้ชชี่เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

การโค้ชที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพราะโค้ชชี่หยุดกลางครัน หรือถอดใจไปก่อน หรือหากไม่มีแรงจูงใจมากพอ เมื่อได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสักพัก ก็กลับไปหาอุปนิสัยเดิมๆ อีก ในการกระตุ้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง สามารถเรียนรู้ได้จากเทคนิคของ Gamification เช่น

องค์ประกอบของ Gamification เน้นการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เจาะจง แต่มีความหมายและไม่ไกลเกินเอื้อม รวมถึงสร้างระบบการติดตาม (tracking) ซึ่งหากในการโค้ช โค้ชไม่ละเลยข้อนี้ ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับโค้ชชี่ในการลงมือปฏิบัติ ในระหว่างการพัฒนา หากโค้ชเป็นเหมือนกระจกที่สามารถสะท้อนความสำเร็จของโค้ชชี่ได้ระหว่างทาง และโค้ชชี่ได้มีอิสระในการเลือกสรรรางวัลที่เป็นไปได้ให้กับตนเอง การขยับเป้าหมายให้ท้าทายมากขึ้นไปอีก ก็จะเป็นเรื่องง่าย

ในการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาใด ถึงแม้จะมีอุปสรรคและความท้าทายรออยู่ แต่ก็อาจทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ด้วยการนำแนวคิดของ Gamification มาปรับใช้นะคะ

©Copyright - All rights reserved.

About the author; Atchara (Cara) Juicharern is a winner of Woman Leadership Award and an accomplished leadership and executive coach who has been also developing executives and leaders in the organizations to be successful in coaching. She has trained thousands of executives and leaders from all types of business industries.

With her passion to support leaders and organizations to be successful in creating coaching and mentoring cultures, she also conducts significant coaching studies. She is frequently invited to speak about the coaching trends and the future of coaching in various leadership and HR forums.

Her best-selling book "Leader as Coach" is the first Thai language book that brings practical and simplified coaching methods and conversation to leaders and has received a foreword by the world number 1 Coaching Guru and Thought Leader - Dr. Marshall Goldsmith.

Contact us: +662 197 4588-9

Email: info@aclc-asia.com

www.aclc-asia.com

******************************

247 views
bottom of page