top of page
Writer's pictureAtchara Juicharern, Ph.D.

โค้ชและสอนอย่างไร ให้จำได้

Updated: Jun 25, 2022

บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ

แต่ละปี องค์กรลงทุนในการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยจำนวนเงินมหาศาล แต่สิ่งที่ได้มาคือ 90% ของความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มามักจะหายไปภายในหนึ่งปี


การศึกษาด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ระบุว่า หากทักษะนั้นยังไม่ได้กลายมาเป็นพฤติกรรม ทักษะนั้นอาจจะค่อยๆ จางหายไป วันนี้ดิฉันจึงขอแชร์แนวทางที่จะช่วยให้ผู้บริหารและผู้จัดการที่ต้องการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชา หรืออยากให้การเรียนรู้และการพัฒนานั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน หรือตามความคาดหวัง ทำให้จำได้ และนำไปปฏิบัติได้ มีแนวทางอย่างไรบ้าง


ความจำ

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเรื่องของความจำก่อน เพราะถ้าอยากให้ผู้ได้รับการโค้ชจำได้ และตามมาด้วยการทำได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า การจดจำข้อมูลของคนเราเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ขอยกตัวอย่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ก่อนออกเดินทาง พนักงานต้อนรับจะสาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และชี้ให้เห็นประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่นั่งของเรามากที่สุด

ท่านเคยสงสัยไหมค่ะ มีผู้โดยสารกี่คนที่ใส่ใจและจำข้อมูลที่สำคัญนั้นได้ ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง เราจะสามารถปฏิบัติตามได้โดยอัตโนมัติ หรือทำอย่างที่พนักงานสาธิตให้เราดูได้หรือไม่ คำตอบคือเราอาจจำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจในข้อมูลนั้น


แต่สำหรับบางท่าน เมื่อได้ยินเสียงพนักงานต้อนรับประกาศว่า ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ ความสนใจของท่านถูกดึงดูดไปที่ข่าวสารที่ประกาศออกมา ตัดความคิดอื่นๆ ออกไปชั่วคราว และท่านก็รับข้อมูลที่ประกาศนั้นบันทึกเข้าไปในความจำโดยไม่รู้ตัว

โดยสรุปคือ การที่เราจะจำข้อมูล ข่าวสาร อะไรใหม่ๆ ได้ เรามักต้องใส่ใจ หรือจำเป็นต้องมีโฟกัสในเรื่องนั้น ดังนั้นโค้ชที่ดี มักจะช่วยให้โค้ชชี่ใส่ใจ และโฟกัสในสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของเขา


สมองส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการจำ และในการสร้างความจำระยะยาว คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนนี้ทำงานเหมือนกลไกบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ และการทำงานของมันต้องอาศัย สมาธิ ความสนใจ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมองชี้ให้เห็นว่า ความใส่ใจ ความสนใจในสิ่งที่จะเรียนรู้จะทำให้เราจำได้ดี


นอกจากนั้น การสลับไปมาระหว่างเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ การทำหลากหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน (Multitasking) ไม่ส่งผลดีต่อความจำ เช่น ระหว่างเรียน พิมพ์งานไปด้วย ระหว่างอ่านหนังสือ ดูหนังไปด้วย ข้อมูลความจำนั้นๆ ก็จะไม่ต่างไปจากเวลาโทรศัพท์แล้วสัญญาณขาดๆ หายๆ ข้อมูลบางอย่างหายไป

โค้ชที่ดี จึงมักจะช่วยให้โค้ชชี่วางแผนในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขามีโฟกัสด้วย หรือช่วยค้นหาสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในสภาพแวดล้อม และวางแผนที่จะบริหารจัดการกับสิ่งนั้นล่วงหน้า


การสื่อสารข้อมูล

การสื่อสารข้อมูลแต่ละครั้งด้วยปริมาณที่พอเหมาะ พอสม ก็สำคัญเช่นกัน เมื่อฮิปโปแคมปัส บันทึกข้อมูลใหม่เข้ามา ต้องการเวลาสองสามนาทีในกระบวนการนำสู่ความจำระยะสั้น

การศึกษาด้านสมองระบุว่า จำนวนข้อมูลที่มันจะรับไว้ได้มากสุด อยู่ที่ประมาณยี่สิบนาทีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้สอนถาโถมข้อมูลหลายชั่วโมงให้ผู้เรียน เป็นวิธีที่ค้านต่อประสิทธิภาพของการช่วยให้ผู้เรียนจำได้คือ ข้อมูลเยอะไปแต่ละครั้ง ยิ่งจำได้น้อย “ยิ่งเยอะ ยิ่งสั้น”


ผู้สอนสามารถให้ข้อมูลสัก 15-20 นาที และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมบางอย่าง โดยใช้ข้อมูลนั้นสลับไป เช่น ให้แลกเปลี่ยนกันสรุป หรือแม้แต่การพักเบรกก่อน


การเชื่อมโยง

อีกวิธีที่จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนจำได้ดีขึ้นคือ การเชื่อมโยง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยากจำชื่อใครให้ได้ เช่น บุคคลนั้นชื่อ ธงชัย (เราก็เชื่อมโยงชื่อบุคคลนี้กับพี่เบิร์ด ธงชัย ศิลปินผู้เป็นขวัญใจของเรา) การศึกษาด้านสมองชี้ว่า หากข้อมูลใหม่ได้รับการเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผู้เรียนจะสามารถจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้สอนช่วยผู้เรียนได้ เช่น เมื่อสอนโมเดลการวิเคราะห์พฤติกรรมคนหลากหลายสไตล์ ก็ควรให้เขาใช้โมเดลนั้นวิเคราะห์คนที่เขารู้จักในชีวิตจริงด้วย ให้เขาเชื่อมโยงว่าคนสไตล์ใดที่เขาร่วมงานด้วยแล้วราบรื่น หรือมีอุปสรรค ใช้กรณีศึกษาที่เขาสามารถใช้โมเดลและประสบการณ์ที่มีในการแก้ไขปัญหา


โอกาสในการนำมาปฏิบัติ

เมื่อเกิดความจำแล้ว หากสมองไม่ได้ใช้ข้อมูลนั้นอีก มีความเป็นไปได้ที่มันจะถูกลบเลือนไป การช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงข้อมูลนั้นขึ้นมาใช้อีกประมาณสามครั้ง จะช่วยให้เขาจำได้ดีขึ้นในระยะยาว เช่น ให้ไปสอนผู้อื่นต่อ สิ่งสำคัญคือ พยายามให้เขาเลือกเองว่าวิธีใดดีที่สุด


มีตัวอย่างเช่น หัวหน้าท่านหนึ่ง โค้ชลูกน้องให้นำการประชุมได้ โค้ชให้เขาตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล เพราะอยากฝึกให้ลูกน้องเป็นผู้นำที่ดี แต่ปรากฎว่าในการประชุมจริง หัวหน้าลุกขึ้นมานำประชุมเองทุกครั้ง ตัดสินใจเองหมดแทบทุกอย่าง ไม่มอบหมายให้ลูกน้องทำ แบบนี้แทนที่จะได้ Multiply การเรียนรู้และความสามารถลูกน้อง อาจทำให้ลูกน้องเซ็งกับการเรียนรู้ในครั้งต่อไป เพราะไม่มีเวทีให้ฝึกเลย แอบมีคำถามในใจว่าจะเรียนไปทำไม


ท้ายสุด สิ่งที่ดีงามต่อความจำคือการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อความจำได้เช่นกัน ระหว่างนอนหลับ สมองไม่ได้หยุดทำงาน แต่ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ เช่น ข้อมูลที่เข้ามาในหัวเราแต่ละวันมากมาย เปรียบเหมือนภายในบ้านที่ข้าวของวางกลาดเกลื่อน บางอย่างก็ต้องเอาออกไปทิ้ง บางอย่างก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม การศึกษาด้านประสาทวิทยาเชื่อว่า ระหว่างที่เรานอนหลับ สมองของเรามีกระบวนการจัดการความจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาว


ขอให้โชคดี โค้ชแล้ว สอนแล้ว จำได้ และทำได้ นะคะ

ว่าแล้วก็ขอไปนอนก่อนนะคะ เพื่อระบบความจำที่ดี Good Night ค่ะ


(C) Copyright - AcComm Group - All rights reserved.


Kommentare


bottom of page