top of page

สมรรถนะของฮีโร่ "Learning Agility"

สังเกตไหมค่ะ เวลาดูภาพยนตร์ที่เราปลาบปลื้มกับตัวเอกคือ Hero และ Heroine ในเรื่อง พวกเขาและเธอเหล่านี้ มีสมรรถนะอะไรที่คล้ายกัน นอกจากกล้ามใหญ่ ใจถึง และเอาชนะอุปสรรคที่ไม่ว่าจะยากเย็นเข็ญใจแค่ไหนก็ยังมีชัยชนะได้ในท้ายสุด


บรรยากาศในการทำงานทุกวันนี้ ก็ไม่แตกต่างจากในภาพยนตร์แนวนี้มากนัก สิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา บ่อยมากขึ้น คาดการณ์ได้ยาก และไม่มีคำตอบที่แน่นอน อีกทั้งอุปสรรคระหว่างทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกท้อไปชั่วขณะ


วันนี้จึงขอเลือก สามแรงบันดาลใจ ที่ได้รับจากการดูภาพยนตร์ มาแชร์กัน เพราะช่วยให้เรา ท้อได้แต่ไม่มีถอย มีสามเรื่องดังนี้ค่ะ คือ....


เรื่องแรก แคตนิส เอฟเวอร์ดีน สาวน้อยมอกกิ้งเจย์ ในเรื่อง เดอะฮังเกอร์เกมส์ ที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะเจออะไรข้างหน้า แต่เธอรอดมาได้เพราะเธอเรียนรู้ได้เร็ว สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลและประสบการณ์เดิมเพื่อเอาชนะบนความท้าทายใหม่ๆ ทั้งๆ ที่เธอเริ่มต้นจากคนที่มีทักษะการต่อสู้น้อยที่สุด อาวุธที่สำคัญที่สุดของเธอคือ ความคิด ความกล้าหาญ และการรู้จักเสียสละเมื่อจำเป็น


เรื่องที่สอง กับตันเคิร์ก จากสตาร์เทรค ผู้ที่พาผู้ชมฝ่ามิติไปยังจักรวาลแปลกใหม่ เป็นผู้ที่ยกมือ ขันอาสางานยาก งานท้าทายทุกครั้งไป แต่ก็พร้อมจะขอความเห็นจากสป็อค และลูกเรือคนอื่น ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญ กับตันเคิร์กมีทั้งความเด็ดเดี่ยวในตนเอง แต่ก็มีความเป็นผู้นำที่ทำให้ลูกทีมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมเสมอ (Inclusive Leader) ระหว่างการปฏิบัติงานมีความคิดเห็นแตกต่างจากลูกทีมหลายครั้ง แต่ไม่ผูกใจเจ็บ และยึดเป้าหมายส่วนรวมและความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก


เขามักจะเตือนลูกเรือของเขาเสมอว่า Mission ของยานฯ ของพวกเขาคือ "To boldly go where no man has gone before." หรือ พันธกิจของพวกเขาคือ "การเดินทางด้วยความกล้าหาญ ไปยังที่ที่ยังไม่เคยมีใครได้ไปมาก่อน"


และที่ดิฉันชอบมากคือคำกล่าวที่กับตันเคิร์ก พูดถึง "สิ่งที่เราไม่รู้" ได้ฟินมาก นั่นคือประโยคที่ว่า

"You know the greatest danger facing us is ourselves, and irrational fear of the unknown. There is no such thing as unknown. Only things temporarily hidden, temporarily not understood."

(รู้หรือไม่ว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดที่เรากำลังเผชิญหน้าคือตัวเราเอง และความกลัวอย่างไร้เหตุผล ในสิ่งที่เราไม่รู้ มันไม่มีสิ่งที่เราไม่รู้หรอก มันแค่ซ่อนเร้นอยู่ชั่วคราว มันแค่ไม่เป็นที่เข้าใจได้ชั่วคราว)



เรื่องที่สาม จากภาพยนตร์ เดอะแมททริกซ์ ที่พระเอกของเรื่อง นีโอ ถามผู้เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของเขาคือ มอเฟียส ว่า "What is the Matrix?" แล้วมอเฟียสตอบว่า "The answer is out there Neo, and it's looking for you, and it will find you if you want it to." นั่นคือคุณต้องออกไปเรียนรู้ และผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะได้คำตอบที่คุณต้องการได้ดีที่สุด


ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่สะท้อนถึงสถานการณ์ที่พลิกผัน ขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ แต่ฮีโร่เหล่านี้ มีสมรรถนะคล้ายกันคือ สมรรถนะที่เรียกว่า Learning Agility


Agility หมายถึงความคล่องตัว ยืดหยุ่น การเผชิญกับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว




Learning Agility คือความสามารถ ความจุในการเรียนรู้ได้เร็ว เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเรียนรู้ได้ดีจากประสบการณ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเจอมาก่อน หรือเป็นเรื่องใหม่ก็ตาม นอกจากนั้นยังสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้ว มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์อื่นๆได้อีกด้วย


ผู้ที่มีสมรรถนะด้าน Learning Agility ยังสามารถ Unlearn สิ่งที่ล้าสมัย ไม่ทันกาลได้เร็ว เป็นผู้ที่เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองเรียนรู้ออกมาได้ดี


สังเกตได้ว่าผู้ที่มี Learning Agility จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกดังนี้

  • มีอุปนิสัยสนใจหรือปรารถนาในการเรียนรู้

  • กล้าเสี่ยงที่จะทดลองปฏิบัติ ไม่อายถ้าลองทำแล้วผิดพลาด

  • เปิดรับความคิดเห็นจากผู้อื่น และเปิดรับข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ


หากองค์กรของท่านต้องการสร้างสมรรถนะในด้าน Learning Agility ให้กับบุคคลและทีมในองค์กร ท่านมีการบ้านต้องทำดังนี้ด้วย เพราะคนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้รับการพัฒนาทักษะนั้นแล้วจะเพียงพอ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม (Environment) ที่เขาปฏิบัติงานอยู่ด้วยเช่นกัน

เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่มีสมรรถนะนี้ได้แสดงตนออกมา หรือทำให้ผู้ที่กำลังพัฒนาสมรรถนะนี้ได้มีโอกาสได้ลับคมกระบี่จนเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ลองถามคำถามเกี่ยวกับทีมหรือองค์กรของท่านดังต่อไปนี้ด้วย เพื่อจะได้บริหารจัดการในด้านที่ยังขาดอยู่ได้ล่วงหน้า


  1. บุคลากรของเราทราบหรือไม่ ว่าการเรียนรู้ที่ดี พวกเขาต้องทำอย่างไร (how to learn?)

  2. บุคลากรของเราทราบหรือไม่ ว่าเขามีทางเลือกในการเรียนรู้อย่างไร หรือช่องทางใดบ้าง

  3. บุคลากรของเราทราบหรือไม่ ว่าพวกเขาควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งเส้นทางคือตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จจบครบถ้วน

  4. ผู้บริหาร ผู้จัดการ และหัวหน้าทีมต่างๆ มีทักษะในการโค้ชหรือเป็นพี่เลี้ยงหรือไม่

  5. บรรยากาศในการทำงาน ส่งเสริมให้คนลองผิด ลองถูก ในระหว่างที่กำลังเรียนรู้ หรือไม่

  6. องค์กรของท่านให้คุณค่ากับการให้เวลากับคนในการเรียนรู้หรือไม่


ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ แล้วพบกันใหม่เร็วๆ นี้ค่ะ

(C) Copyright - All rights reserved.


**********************************

Comments


bottom of page