top of page

Enabler of  “Learning at the Speed of Business”

Search Results

57 items found for ""

  • Goal Setting การตั้งเป้าหมายที่ดีเป็นอย่างไร

    เราเคยได้ยินประโยคที่ว่า เป้าหมายที่ดี จะช่วยให้เราเข้าใกล้ผลลัพธ์และชัยชนะไปกว่าครึ่งได้ มีการศึกษาไม่น้อยเลยที่สนับสนุนว่า เป้าหมายที่มีประสิทธิผลช่วยให้คนมีผลิตภาพในการลงมือทำเรื่องนั้น ทำให้เกิดแรงจูงใจ และทำให้รู้สึกดีเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายแล้วมองย้อนกลับมาว่าได้ผ่านอะไรมาบ้างในการเดินทางมาสู่เป้าหมายนั้น ถ้าเช่นนั้นแล้วเป้าหมายที่ดีเป็นอย่างไร คุณสมบัติของเป้าหมายที่ดีข้อแรกคือ ระบุเป้าหมายอย่างชัดเจน เฉพาะเจาะจง และไม่ควรตั้งหลายเป้าหมายพร้อมๆกัน การจะลงมือปฏิบัติตามเป้าหมายโดยไม่หลงลืม เราจำเป็นต้องมีโฟกัสในเรื่องนั้น หากมีหลายเป้าหมาย อาจทำให้ความคิดสับสนและละเลิกอย่างง่ายดาย หากไม่แน่ใจว่าจะเลือกเป้าหมายใดดี อาจจะใช้การเขียนเรื่องที่อยากจะเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่อยากจะทำ ออกมาเป็นคำกว้างๆ ก่อน หลายๆคำก็ได้ เช่น สุขภาพ ความรัก มิตรภาพ การนำเสนองาน การเพิ่มยอดขาย เป็นต้น จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญ และเลือกว่าจะโฟกัสไปเรื่องใดก่อน ข้อสอง ลองพิจารณาว่าเป้าหมายที่ได้เลือกนั้น เป็นไปในทางเดียวกันกับสิ่งที่เราให้คุณค่า หรือให้ความสำคัญในชีวิตหรือไม่ เช่นสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าเป้าหมายนั้น นำพาเราไปสู่การเรียนรู้ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เราลงมือทำ และถามตนเองว่าเราจะได้รับผลดีอะไรตามมา เขียนประโยชน์ที่เราจะได้รับออกมาว่ามีอะไรบ้างในการให้เวลากับเรื่องนั้น อีกขั้นตอนหนึ่งคือ ถามตนเองเพิ่มว่า นอกจากตนเองแล้ว มีใครอีกบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการที่เราบรรลุเป้าหมายนั้น ข้อสามคือ การเขียนประโยคเป้าหมายออกมาชัดๆ จะช่วยกระตุ้นให้จำได้ เขียนประโยคเป้าหมายโดยใช้คำพูดเชิงบวก ไม่ควรใช้คำพูดเชิงลบหรือเชิงปฏิเสธ เช่น แทนที่จะตั้งว่า “ฉันจะไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง ฉันจะไม่ทานเบเกอรี่และขนมหวานก่อนนอน” ควรใช้ประโยคเป้าหมายว่า “หลังจากอาหารกลางวันไปแล้ว ฉันจะทานผักและผลไม้ และอาหารที่มีไขมันต่ำเท่านั้น” หรือแทนที่จะเขียนว่า “ฉันไม่อยากอ้วน” ควรเขียนว่า “ฉันดูแลสุขภาพตนเองและกำลังจะมีรูปร่างสวยงาม” แทนที่จะเขียนว่า “ฉันจะไม่ขี้เกียจออกกำลังกายอีกต่อไป” ควรเขียนว่า “ฉันเป็นคนรักสุขภาพตนเอง และฉันออกกำลังกายอาทิตย์ละสามวัน” ข้อสี่ เป้าหมายที่ไม่ง่ายจนเกินไปและมีความท้าทาย ทำให้เรามีแรงจูงใจมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเพิ่มวิธีการวัดผลและกรอบเวลาที่ตั้งใจจะทำให้เรื่องนั้นให้สำเร็จ ควรจะอยู่บนความเป็นจริง และสามารถปฏิบัติได้ ในการกำหนดตัววัดและกรอบเวลา ควรพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆในเส้นทางการปฏิบัติ เพื่อจะได้คิดวิธีการในการรับมือหากเป็นอุปสรรค และปรับเป้าหมายให้ท้าทายแต่สามารถที่จะไปถึงได้ ข้อห้า เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ก็ควรมีแผนการปฏิบัติด้วย แผนที่ดีจะรวมถึงการเตรียมแผน B ไว้ด้วย หากแผน A ไม่เป็นไปตามแผน ข้อหก กำหนดวิธีการที่จะติดตามความคืบหน้า (Tracking Progress) เช่น การบันทึกในแต่ละวันว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำให้เราเห็นความคืบหน้าชัดเจน และค่อยๆกลายเป็นวินัยในตนเอง บางครั้งการแสวงหาระบบหรือกลุ่มเพื่อนที่สนับสนุน ก็ทำให้การติดตามผลแบบสนุกๆขึ้นได้ และการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นในเป้าหมายนั้น ก็ทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆจากผู้อื่นด้วย ข้อเจ็ด หากทำไม่ได้ตามแผน อย่ารับตัดพ้อ ต่อว่า หรือรู้สึกผิดต่อตนเอง เพราะเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถถอยมาหนึ่งก้าว เพื่อย้อนดูว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากขั้นตอนนั้น และจะทำให้แตกต่างได้อย่างไรบ้างในอนาคต เพื่อให้มีความคืบหน้าแบบสองก้าวหรือมากกว่า สุดท้าย ตั้งรางวัลให้ตนเองในการบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่าราคาแพงก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่ดีต่อใจและทำให้คุณยิ้มได้เมื่อได้รับรางวัลนั้น ในการโค้ช การตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่จะช่วยให้โค้ชชี่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีความสำเร็จ และโค้ชควรสนับสนุนให้โค้ชชี่ตั้งเป้าหมายที่มีทั้งชัยชนะระยะสั้น (Short-term Winning) เพื่อให้เกิดกำลังใจในการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเป้าหมายความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก (Transformational Goal) ที่อาจรวมถึง ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก การมองตนเอง อุปนิสัย ได้อีก ด้วย Download บทความ © Copyright – All rights reserved. ท่านสามารถแชร์ข้อมูลนี้ได้ เพื่อการพัฒนาตนเองและทีมงาน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ข้อห้าม***** ห้ามนำไปใช้ในการสอนหรืออบรมโดยวิทยากรที่ไม่ได้รับการรับรองจากแอคคอมกรุ๊ป ห้ามนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ หรือสินค้าและบริการอื่นๆ หากท่านต้องการสอบถามเพิ่มเติมในการนำข้อมูลไปใช้ กรุณาติดต่อแอคคอมกรุ๊ปได้ที่ info@aclc-asia.com

  • Creating Team Synergy

    ในยุคที่องค์กรเน้นการปฏิบัติงานและการเปลี่ยนแปลงอย่างคล่องแคล่วเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน การประสานงานในทีมงานและระหว่างทีมงาน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุผลลัพธ์ต่างๆได้ เราจึงมักกล่าวถึงคำว่า การสร้างพลังทวีคูณของทีม หรือ “Team Synergy” ซึ่งเปรียบได้กับผลบวกของ 1+1 ที่บวกออกมาแล้วต้องไม่ใช่ให้ผลลัพธ์เพียงแค่ “2” แต่สามารถเป็น “3” หรือมากกว่านั้นได้ ทีมที่มีพลังทวีคูณจะมีลักษณะพิเศษคือ เมื่อบุคคลในทีมมาร่วมงานกันแล้ว สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สูงขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น มากกว่าการทำงานด้วยตัวคนเดียว หากยกตัวอย่างการแข่งขันวิ่งผลัด เมื่อนักกีฬาวิ่งผลัดสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าตอนที่วิ่งเดี่ยว แสดงถึงพลังทวีคูณที่ดี หรือนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีต่างชิ้นกัน แต่เล่นพร้อมกันออกมาแล้วไพเราะก้องกังวานกว่าการเล่นคนเดียว ก็ถือว่ามีพลังทวีคูณ อย่างไรก็ตาม การสร้าง Synergy ในทีมงาน หรือระหว่างทีมงานอาจมีอุปสรรค เช่น เมื่อนำคนเก่งที่มีไอคิวสูงมาร่วมงานกัน และต่างคนต่างมีความยึดมั่นถือมั่นไม่ลดละ หรือขาดวุฒิภาวะด้านอารมณ์ (EQ) การมาร่วมงานกันในทีม อาจทำให้ไอคิว (IQ) ของทั้งทีมด้อยลงก็เป็นได้ คุณลักษณะของทีมที่มีพลังทวีคูณ เช่น สมาชิกในทีม มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางต่างๆในการทำงานร่วมกัน สมาชิกในทีมมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมาย และวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น ทุกคนมีความมุ่งมั่นลงมือทำตามที่ตกลงกัน ข้อมูล ข่าวสาร ได้รับการแบ่งปันอย่างเปิดเผย ทั่วถึง เมื่อใครทำผลงานได้ดี มีการยกย่องชมเชยกัน การตัดสินใจที่สำคัญ ได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันจากสมาชิกทุกคน ทุกคนเห็นคุณค่าของความแตกต่างของบุคคล และสนใจในจุดแข็งของความแตกต่างนั้น ทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองชัดเจน แต่ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่แทนอีกคนได้ เมื่อจำเป็น ผู้นำทีม เอื้ออำนวยและสนับสนุนให้สมาชิกในทีมได้รู้จักกันมากกว่าในงาน ทุกคนมองว่าการยกระดับผลงานและเป้าหมายเป็นเรื่องปกติที่ทีมทำได้ ผู้นำทีมที่ต้องการสร้าง Synergy ให้เกิดขึ้นในทีมหรือระหว่างทีม มักใช้กิจกรรม Team Building หรือ Team Synergy เข้ามาช่วย ดร.มาแชล โกลด์สมิท ปรมาจารย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการพัฒนาผู้นำและการพัฒนาพฤติกรรมคน ได้ย้ำว่า ทีมจะพัฒนาพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์สูงสุดได้ สมาชิกในทีมควรได้ร่วมกันคิดยุทธวิธีในการพัฒนาขึ้นมาเอง ไม่ใช่ผู้นำเป็นคนคิดให้ ซึ่งท่านได้แนะนำขั้นตอนไว้ ดิฉันขอสรุปสั้นๆดังต่อไปนี้ ขั้นตอนที่หนึ่ง:ก่อนการจัดกิจกรรมใดๆ ให้สมาชิกในทีมทุกคนตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินและหาข้อมูลก่อนว่าพวกเขามองว่า ในปัจจุบันทีมทำงานร่วมกันอย่างไร ประสิทธิผลอยู่ที่เท่าไหร่ และทีมที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไรในอนาคต อาจให้ประเมินเป็นสเกลหนึ่งถึงสิบก็ได้ ให้สมาชิกในทีมได้คำนวณผลลัพธ์ที่ออกมา และคุยกันว่ามีความจำเป็นต้องปิดช่องว่างของประสิทธิผลที่เป็นอยู่กับประสิทธิผลที่ต้องการจะเป็นหรือไม่ จากนั้น ให้สมาชิกในทีม เลือกพฤติกรรมสองข้อ ที่ตนเองควรเปลี่ยน เพื่อให้ทีมบรรลุประสิทธิผลที่ต้องการ ขั้นตอนที่สอง เป็นช่วงที่ไปทำกิจกรรมผสมผสานความสนุกสนานร่วมกัน องค์กรควรบอกให้วิทยากรผู้เข้ามานำกิจกรรมเหล่านี้ได้ทราบความคาดหวังที่ได้ผลลัพธ์มาจากข้อหนึ่ง เพื่อออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องและตอบโจทย์การปิดช่องว่างต่างๆนั้น หากกิจกรรมต่างๆไม่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของทีม จะทำให้สมาชิกสับสนได้และละทิ้งพฤติกรรมที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลง ขั้นตอนที่สาม: หลังจากกิจกรรมร่วมทุกข์ร่วมสุขผ่านไป เมื่อกลับมาทำงาน ปัญหาหนึ่งที่ผู้นำสังเกตได้คือ การประสานงานแบบพลังทวีคูณเกิดขึ้นช่วงหนึ่ง แล้วก็หายไป คนส่วนใหญ่กลับเข้าสู่พฤติกรรมเดิมๆ ดังนั้น การกระตุ้นด้วยกิจกรรมสั้นๆ ตามมา เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เช่น มีกิจกรรมต่อเนื่องที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แต่เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้พูดคุยขอ Feedback หรือคำแนะนำจากสมาชิกคนอื่นๆ ว่าสังเกตเห็นการพัฒนา เปลี่ยนแปลง หรือความคืบหน้าที่ตนเองได้ตั้งใจไว้หรือไม่ และขอคำแนะนำจากกันและกัน เมื่อผ่านไปสักสามถึงสี่เดือน ทีมอาจใช้แบบประเมินแบบที่ใช้ตอนต้นทาง อีกครั้ง และผู้นำทีมนำผลลัพธ์มาสื่อสารให้ฟังในการประชุม ผู้นำถือโอกาสชื่นชมทีมในการพัฒนาที่ดีขึ้น และหารือในด้านที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมต่อไป ดร.มาแชล โกลด์สมิท ได้พิสูจน์แล้วว่ากระบวนการดังกล่าวช่วยให้การพัฒนาทีมได้ผลและไม่เป็นการเสียเวลา ในการปรับเปลี่ยนด้านพฤติกรรม ท่านย้ำว่าจำเป็นต้องมีการติดตามผลโดยการให้ Feedback และการกระตุ้นๆบ่อยๆ ไม่ใช่ปีละครั้งหรือสองปีครั้ง กิจกรรมและการติดตามผล Team Building ไม่ควรนำให้สมาชิกในทีมชี้นิ้วไปที่ปัญหาของคนนั้น ปัญหาของคนนี้ หรือชี้นิ้วไปรอบด้าน แต่กระบวนการที่ ดร. มาแชล โกลด์สมิท แนะนำนี้เน้นให้ทีมมุ่งไปที่การพัฒนาทีมของตนและตนเอง เน้นให้เริ่มจากการปรับเปลี่ยนที่ตนเอง และการติดตามความคืบหน้าของตนเอง ระบบนี้จะช่วยให้ผู้นำบริหารเวลาของตนเองได้ดีกว่าด้วย อีกทั้งมีผลลัพธ์ที่สร้างร่วมกันกับทีม Download บทความ © Copyright – All rights reserved. ท่านสามารถแชร์ข้อมูลนี้ได้ เพื่อการพัฒนาตนเองและทีมงาน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ข้อห้าม***** ห้ามนำไปใช้ในการสอนหรืออบรมโดยวิทยากรที่ไม่ได้รับการรับรองจากแอคคอมกรุ๊ป ห้ามนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ หรือสินค้าและบริการอื่นๆ หากท่านต้องการสอบถามเพิ่มเติมในการนำข้อมูลไปใช้ กรุณาติดต่อแอคคอมกรุ๊ปได้ที่ info@aclc-asia.com

  • สร้างแรงจูงใจอย่างไร ให้ได้ใจ

    บุคลากรที่มีแรงจูงใจ มักคิดเชิงรุก ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เร็ว มีประสิทธิภาพในงาน และมีความมั่นใจในตนเอง บุคลากรที่ขาดแรงจูงใจ สังเกตได้จากพฤติกรรมเช่น ขาด ลา มาสาย ให้บริการลูกค้าไม่ดี และประสิทธิภาพการทำงานลดลง ปัจจุบัน องค์กรต้องการรักษาคนดี คนเก่งไว้ให้ได้ และเน้นสร้างความผูกพันต่องานและองค์กร การสร้างแรงจูงใจ จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เมื่อสังเกตเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้นำของเขาอาจเริ่มถามไถ่ หรือใช้การโค้ชเพื่อร่วมกันสร้างแรงจูงใจให้กลับมา การจะจูงใจคนให้ได้ใจและงาน ควรเข้าใจก่อนว่า แรงจูงใจมาจากสองแหล่ง คือ แรงจูงใจภายนอก และแรงจูงใจภายในตนเอง แรงจูงใจจากภายนอก เช่น การที่องค์กรให้ผลตอบแทนที่ดี ให้รางวัล เกียรติยศชื่อเสียง ให้คำชม หรือยกย่อง ถึงแม้แรงจูงใจนี้ไม่คงทนถาวร แต่ก็มองข้ามไม่ได้ เพราะบุคลากรควรรับรู้ว่า องค์กรและผู้นำของเขาตอบแทนเขาในด้านนี้แบบยุติธรรม ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ส่วนแรงจูงใจจากภายใน เกิดจากภายในตัวบุคคลเอง ไม่มีใครมาให้อะไร ก็อยากทำเต็มที่ อยากทำให้ดี ซึ่งอาจมาจากเจตคติของเขาเอง มาจากการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ความพอใจเมื่อเห็นผลสำเร็จในสิ่งที่ทำ หรือความสนใจของตนเองในการทำอะไรสักอย่าง เช่น รู้สึกมีอิสระ มีความสมัครใจในการกระทำนั้น ๆ เป็นต้น การศึกษาในด้านแรงจูงใจของบุคคลชี้ให้เห็นว่า การใช้แรงจูงใจจากภายนอกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นอกจากนั้นการสร้างแรงจูงใจจากภายนอกถึงจะมีผลดี แต่ก็มีผลเสีย เช่น ทำให้บุคคลคาดหวังว่า จะทำอะไรต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนเสมอ การตั้งรางวัลแบบแรงจูงใจภายนอกสำหรับงานหรือความทุ่มเทบางอย่าง อาจสร้างความกดดัน มากกว่าเป็นแรงขับ และความกดดันก็สามารถลดประสิทธิผลด้านความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลได้ ดังนั้น หากเป็นงานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดขั้นสูง หรือต้องใช้ความคิดซับซ้อน และสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องเลือกเวลาในการให้แรงจูงใจจากภายนอกให้ดี แต่สิ่งที่ควรจัดสรรให้เกิดขึ้นสม่ำเสมอ และขาดไม่ได้คือแรงจูงใจจากภายใน การสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดแรงจูงใจจากภายใน ที่ผู้นำทีมสามารถทำได้คือ หนึ่ง การให้อิสระทางความคิดกับลูกทีมบ้าง เช่น เปิดโอกาสให้ลูกทีมได้ใช้ศักยภาพของตนเอง ได้มีอิสระในการคิด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือได้ตัดสินใจด้วยตนเองบ้าง สองคือให้ความเชี่ยวชาญ เช่น การพัฒนาการทำงานให้เกิดความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง และได้รับการยอมรับ ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานด้านอื่น ๆ ด้วย สามคือ สื่อสารความหมายของสิ่งที่ลูกทีมทำ หรือกำลังมอบหมายให้เขาทำ เช่น เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร ไม่ใช่บอกเพียงทำแล้วจะได้รับอะไร เราเห็นได้จากผู้ที่อุทิศตนไปช่วยงานเพื่อสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน นั่นเป็นเพราะเขามีจุดประสงค์ที่มีความหมายสำหรับตัวเขาเอง ดังนั้น หากผู้นำช่วยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาประสานเป้าหมายส่วนตนกับเป้าหมายของงานเข้าด้วยกันได้ ก็จะยิ่งกระตุ้นแรงจูงใจได้ดีขึ้น ที่สำคัญพฤติกรรมของผู้นำต้องไม่บั่นทอนแรงจูงใจของลูกทีม ตัวอย่างเช่น การทำในด้านตรงกันข้ามกับสามข้อที่กล่าวมา การสร้างแรงจูงใจที่ดี ก็จะทำให้เราได้ทั้งใจและได้ทั้งงาน นำไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จด้วยกันทั้งทีม © Copyright – All rights reserved. ท่านสามารถแชร์ข้อมูลนี้ได้ เพื่อการพัฒนาตนเองและทีมงาน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ข้อห้าม***** ห้ามนำไปใช้ในการสอนหรืออบรมโดยวิทยากรที่ไม่ได้รับการรับรองจากแอคคอมกรุ๊ป ห้ามนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ หรือสินค้าและบริการอื่นๆ หากท่านต้องการสอบถามเพิ่มเติมในการนำข้อมูลไปใช้ กรุณาติดต่อแอคคอมกรุ๊ปได้ที่ info@aclc-asia.com

  • เทคนิคการโค้ช โดยสุดยอดโค้ช 50 คน

    หากเราคำนวณค่าใช้จ่ายในการโค้ชผู้บริหาร และผู้จัดการ จะเห็นว่า เป็นการลงทุนที่ไม่น้อยเลย อีกทางเลือกในการพัฒนาผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้นำ คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริง และนำมาปรับใช้กับตนเอง วันนี้จึงขอแนะนำ หนังสือเล่มเดียวในขณะนี้ ชื่อว่า "COACH ME" เป็นหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์จริง จากโค้ช 50 คน ที่ได้รับการยกย่องจาก Thinkers50 ให้เป็นสุดยอดโค้ช 50 คนของโลก (The World Top 50 Coaches) ในการโค้ชผู้บริหาร ไม่มีเทคนิคใดที่เป็น One-size-fit-all ดังนั้นผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ตั้งใจถ่ายทอดเทคนิค เครื่องมือและกลยุทธ์การโค้ชที่แตกต่างกัน สำหรับผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้นำที่มีเป้าหมายต่างกัน หรือเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกัน นับว่าเป็นคัมภีร์การโค้ชผู้บริหาร ที่คู่ควรสำหรับผู้นำทุกท่าน สามารถเก็บไว้โค้ชตนเอง และโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชา หรือสำหรับท่านที่มีอาชีพเป็นโค้ช ท่านจะได้เรียนรู้รูปแบบการโค้ชต่าง ๆ มากมาย ที่มาจากชีวิตจริง ได้เรียนรู้กรณีศึกษามากมาย และ Coaching Best Practices จากประสบการณ์การโค้ชจริง ๆ เช่น การโค้ชในหัวข้อดังต่อไปนี้: Self-insight Communication skills Interpersonal relationships Emotional intelligence Empowering others Coaching others Managing change Transition management Execution Career development ผู้ที่แบ่งปันประสบการณ์ในหนังสือเล่มนี้ ให้เราได้อ่านกันแบบกระชับและชัดเจน เห็นชื่อแล้ว อยากจะหยิบมาอ่านเดี๋ยวนี้เลย เช่น Richard E. Boyatzis เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ร่วมเขียนหนังสือ Primal Leadership Professor Peter Hawkins, Ph.D. ผู้เขียนหนังสือด้านการโค้ชมากมาย ที่เราติดตามกันอยู่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร Sally Helgesen ผู้เขียนหนังสือ How Women Rise Whitney Johnson ผู้เขียนหนังสือ Disrupt Yourself Carol Kaufman จาก The Faculty of Harvard Medical School Magdalena Mook – Executive Director of International Coach Federation (ICF) Dr. Marcai Reynolds, PsyD - ปรมาจารย์ด้านการโค้ช Mark Thomson ผู้ที่ได้รับรางวัล #1 CEO Coach โดยมีบรรณาธิการระดับโลกถึงสามท่าน คือ Dr. Marshall Goldsmith, Prof. Johnathan Passmore, D.Psych และ Brian Underhill, Ph.D. ขั้นเทพทั้งนั้นนะคะ และอย่าลืมติดตามฝีไม้ลายมือคนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมเขียนลงในเล่มนี้ ในบทที่ 30 “Leading in Times of Change” โดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แอคคอมกรุ๊ป Email: info@aclc-asia.com

  • เรียนรู้เทคนิคการโค้ช

    บทความโดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ เราทราบดีอยู่ว่า การสนทนาในการโค้ชเน้นการถาม อย่างไรก็ตาม การถามอย่างเดียวอาจไม่ได้เหมาะกับโค้ชชี่ทุกคน ดิฉันเชื่อว่า การหารูปแบบการโค้ชที่เหมาะสมกับบริบทและคุณลักษณะของโค้ชชี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่นการเรียนรู้จากเรื่องราวหรือตัวอย่างดีๆ อีกประการคือ การที่จะโค้ชเก่ง โค้ชก็ควรศึกษาและเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่สร้างสรรค์อยู่เสมอ เพื่อให้มีวิธีการหลายหลายสำหรับวัตุประสงค์ในการโค้ชที่มีความแตกต่างกัน โดยธรรมชาติ สมองคนเราเข้าใจ Story ได้เร็วอยู่แล้ว การเชื่อมโยงกับเรื่องราวได้เร็ว ทำให้เกิดความชัดเจน และการอยากลงมือปฏิบัติ อีกทั้งความรู้สึกร่วม ที่ช่วยในการจดจำ วันนี้เลยอยากยกตัวอย่างเรื่องราวการโค้ชที่ดิฉันมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง หรือเป็นการสื่อถึงการโค้ชที่สร้างสรรค์ เป็นเทคนิคการโค้ชที่ใช้ได้กับการโค้ชตนเอง และโค้ชผู้อื่นค่ะ ถ้าคุณเป็นผู้นำหรือหัวหน้าทีม ที่กำลังเหนื่อยหรือสับสนกับหลายสิ่งอย่างที่เข้ามาในชีวิต ลองอ่านบทความนี้เพื่อการโค้ชตนเอง หรือนำมุมมองที่ท่านได้รับจากบทความนี้ไปใช้ในการโค้ชผู้อื่นได้ด้วยค่ะ ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเรื่องราวของผู้บริหารท่านหนึ่งคือ “มาร์ค” ที่กำลังโค้ชลูกสาวของตนเอง “แจ็กกี้” เพื่อให้ลูกสาวเป็นผู้นำที่ดี และบริหารจัดการภารกิจต่างๆ ที่ล้นมือในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างดีๆนี้ มาจากหนังสือชื่อ Juggling Elephants เป็นหนังสือติดอันดับขายดี เขียนโดย Jones Loflin และ Todd Musig คำว่า Juggling หมายถึงการโยนสิ่งของสามสี่อย่างขึ้นไปในอากาศ และเลี้ยงของทุกอย่างให้ไม่ตกลงมาที่พื้น ทำไม่เราต้อง Juggling เพราะเรามีเพียงสองมือ เราถือทุกอย่างไว้ไม่ได้ บางอย่างตกลงมาบนมือ บางอย่างถูกส่งลอยขึ้นไป เราไม่อยากให้อะไรตกลงมาที่พื้นเพราะจะเกิดความเสียหายได้ เหมือนที่เราเคยเห็นการละเล่นแบบนี้ในหนัง คนเล่นโยนเลี้ยงลูกบอลหลายลูกไว้ได้ และไม่ให้ลูกใดตกลงพื้น สิ่งที่แจ็กกี้ ผู้เป็นลูกสาว กำลังเผชิญคือ ปัญหากับการรับมือกับหน้าที่การงานที่ถาถมเข้ามา และยังมีเรื่องส่วนตัวอีก เธอกังวลว่า ตนเองจะรับมือไม่ไหวแล้ว เธอไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ Juggling เข้าแล้ว เธอจึงมาขอคำปรึกษาจากคุณพ่อ ทว่าคุณพ่อ “มาร์ค” ไม่ได้ให้คำตอบตรงๆ แต่ใช้การแบ่งปันเรื่องราวของหัวหน้าหรือผู้นำของเวทีละครสัตว์ ที่เราเรียกว่า “Ring Master” ในเรื่องนี้ เขาคือ วิคเตอร์ ผู้นำหรือผู้ควบคุมการแสดงละครสัตว์ที่ยิ่งใหญ่อันประกอบไปด้วยการแสดงมากมาย หากเรานึกถึงการแสดงละครสัตว์ จะเห็นว่า การแสดงมีหลายเวที เช่นการแสดงกายกรรมผาดโผน การแสดงตลก และการแสดงของสัตว์ต่างๆเช่น เสือ สิงโต ช้าง เป็นต้น ที่สำคัญคือ การแสดงทุก ๆ เวที เกิดขึ้นพร้อมๆกัน และเป้าหมายของการแสดงทั้งหมดคือ ผู้ชมต้องชื่นชอบติดใจในทุกเวที และพากันมาดูการแสดงอีก การแสดงทุกเวทีจะต้องไม่มีอะไรพลาด ไม่มีอะไรผิดคิว แต่ไม่ว่าจะแสดงพร้อมกันสามวง หรือห้าวง เราก็มี Ring Master เพียงคนเดียว! และเขาคือคนที่นอกจากจะแน่ใจว่า ทุกวงมีความสำเร็จในการแสดงและได้รับเสียงปรบมือที่ดังลั่นแล้ว เขายังต้องเป็นผู้ไปเปิดการแสดงแต่ละชุด เมื่อมีการแสดงชุดใหม่ออกมา ในแต่ละเวทีอีกด้วย อืม!….แล้ววิคเตอร์ทำอย่างไร เขาจึงเป็น Ring Master หรือผู้นำที่ยอดเยี่ยม สิ่งที่มาร์คถ่ายทอดให้แจ็กกี้ได้เรียนรู้ คือสิ่งที่มาร์คเองได้เคยเรียนรู้จากการนำละครสัตว์ของวิคเตอร์ ผู้ที่เป็น Ring Master หรือผู้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของละครสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ แท้จริงแล้ว มาร์คเองก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์ Juggling Elephants เช่นเดียวกัน แต่บังเอิญได้มาพบกับวิคเตอร์ และโดยไม่ได้ตั้งใจหรือนัดหมายใดๆ วิคเตอร์กลายเป็นคนที่มาร์คแวะมาพบบ่อยๆ จนเรียกได้ว่ามาร์คยกให้วิคเตอร์เป็นโค้ชไปโดยปริยาย วิคเตอร์ทำให้มาร์คเกิดปัญญา (Insights) และผ่านพ้นช่วงวิกฤตของชีวิตมาได้ มาร์คค่อยๆเล่าเรื่องของวิคเตอร์ให้แจ็กกี้ฟังครั้งละนิดหน่อย และให้แจ็กกี้ได้สะท้อนถึงเรื่องราวตนเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองและวางแผนทุกสิ่งอย่างใหม่ สิ่งที่แจ็กกี้ได้เรียนรู้สรุปได้ดังนี้คือ….. ทุกเวทีสำคัญไม่แพ้กัน มาร์คได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับวิคเตอร์ระหว่างดูการแสดงละครสัตว์ว่า ที่จริงแล้วทุกๆเวทีมีความสำคัญเท่าๆกัน เปรียบเหมือนสามเวที หรือห่วงสามวงที่เกี่ยวกันไว้ในชีวิต คือหนึ่งเรื่องงาน สองเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบๆตัวเรา และสามเรื่องการพัฒนาและดูแลตนเอง ที่รวมทั้งร่างกายและจิตใจ หากวงใดวงหนึ่งมีปัญหา ก็จะกระทบอีกวงได้ในระยะสั้นหรือระยะยาว ทุกวงมีผลต่อกันและกัน ดังนั้น ผู้นำที่ดีควรใส่ใจกับทั้งสามวงอย่างสมดุล การ Juggle Elephants เปรียบเสมือนภารกิจ หรือสิ่งที่อยู่ในความดูแลของเรา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ทุกเวทีสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น ทั้งผู้นำและทีมนักแสดงจำเป็นต้องเข้าใจตรงกันก่อน ว่าเป้าหมายคืออะไร วิคเตอร์ให้เวลาในการสื่อสารเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นการ “เลือกจะทำอะไร และไม่ทำอะไร” และการจัดลำดับความสำคัญ คือสิ่งที่ตามมา และเมื่อทีมเข้าใจเป้าหมาย พวกเขาก็ช่วยวิคเตอร์ได้มาก เพราะการตัดสินใจในการจัดลำดับความสำคัญของเราจะไปในทิศทางเดียวกัน การวางแผน ว่าอะไรควรอยู่ในแต่ละวง และควรตัดออกไป เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าเราใส่ทุกอย่างเข้าไป เราคงรับมือไม่ไหว และจากนั้น จัดการแสดงต่างๆ ที่เลือกแล้วเข้าในแต่ละวง มั่นใจว่าการแสดงที่เลือกเข้ามานั้น ช่วยส่งเสริม เติมเต็มและสอดคล้องกับเป้าหมายของละครสัตว์ ผู้นำเข้าไปทบทวนกิจกรรมและรายละเอียดของการแสดงนั้น ๆ เป็นบางครั้ง หลังจากทบทวน ก็จำเป็นต้องใส่การปฏิบัติบางอย่างเพิ่มลงไปในวงนั้น เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ เช่นให้เวลาพูดคุยกับนักแสดงบางคนตัวต่อตัวเพิ่มขึ้น ความใส่ใจในแต่ละเวที ระหว่างการแสดง อย่างที่เกริ่นแล้วว่า โดยปกติละครสัตว์จะมีหัวหน้าการแสดงเพียงคนเดียว แต่หัวหน้าไม่สามารถอยู่ในสามเวทีได้ในเวลาเดียวกัน จริงไหม? ดังนั้น กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของการแสดงคือ มีการแสดงที่มีคุณภาพในทุกๆเวที ไม่ว่าหัวหน้าจะอยู่ที่นั่นหรือไม่ และหัวหน้ารู้ว่าจะไปอยู่ที่เวทีใด ในเวลาใด และจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกว่าจะมุ่งความสนใจไปยังการแสดงใดในขณะนั้น “เมื่อฉันอยู่ในเวทีใด ฉันใส่ใจในเวทีนั้นอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงเวลาต้องย้ายไปดูแลเวทีอื่น ฉันต้องปรับตัวเพื่อจะเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว” คำพูดนี้ของวิคเตอร์ สื่อให้เห็นว่า ผู้นำที่ดีรู้ว่าตนเองทำอะไรอยู่ สามารถมีโฟกัส และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้อย่างมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ นักแสดง นักแสดงก็เปรียบเสมือนบุคลากรในทีมงานของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงทุกคนกับหัวหน้าละครสัตว์สำคัญมากต่อความสำเร็จ นักแสดงทุกคนจำเป็นต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ถูกเวลา เพื่อให้ละครสัตว์ โดยรวมปรากฏออกมาอย่างสำเร็จ นักแสดงทุกคนสำคัญ และควรต้องปฏิบัติหน้าที่จากต้นจนจบอย่างเต็มที่ (fully engaged) เพื่อให้ทั้งทีมสำเร็จ แต่การทำให้นักแสดงรู้สึกเต็มที่กับงานตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมีความสุข มาจากการที่หัวหน้าเองควรรู้จักและทำความเข้าใจนักแสดงคนนั้น เพื่อจะได้ทราบว่าจะสร้างแรงจูงใจให้เขาอย่างไร วิคเตอร์เล่าถึงนักแสดงพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ เบื่อหน่ายราวกับเป็นคนขี้เกียจ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเขาจึงได้ทราบว่า เขาเบื่อที่จะแสดงบทเดิมๆ และอยากได้ทำอะไรที่ท้าทายขึ้น วิคเตอร์ให้โอกาสและปรับบทบาทของเขาด้วยความเข้าใจ ผลที่ออกมาคือเขากลายเป็นนักแสดงที่มีคุณค่าต่อทั้งทีม และเป็นคนที่มีความสุขในการทำงาน ผู้นำ หัวหน้าละครสัตว์เองมีผลกระทบอย่างมากในการนำและโน้มน้าวไปสู่ความสำเร็จของการแสดงทั้งหมด หัวหน้าเองก็จำเป็นต้องรู้จักพักผ่อน และผ่อนคลายบ้าง นอกจากนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ และได้รับ Feedback หรือคำแนะนำ เพื่อการพัฒนาการแสดงในทุกๆวงของชีวิต หรือในการแสดงทุกเวทีเช่นเดียวกัน เพื่อให้มีการพัฒนาทันกับความคาดหวังของผู้ชมอยู่เสมอ หนังสือเล่มนี้ สื่อถึงการโค้ชที่น่าสนใจ และใช้ Story ในเส้นทางการโค้ช ตั้งแต่ต้นจนจบ แจ็กกี้เกิดปัญญา (Insights) และแนวทางแก้ไขปัญหาของตน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากการได้ฟังเรื่องราวการเป็นผู้นำที่ดีของวิคเตอร์ เป็นการถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จของมาร์คให้กับ แจ็กกี้ ลูกสาวของเขา ได้อย่างแยบยล เรื่องราวเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน การโค้ชที่ดีควรมีกระบวนการที่สนุก เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโค้ชชี่ในการนำไปปฏิบัติอีกด้วย ก่อนจบบทความนี้ ก็ขอกลับมาพูดเรื่อง Elephants ซึ่งเปรียบเสมือนกิจกรรมหรืองานที่สำคัญ ที่มีความหมายต่อเป้าหมายของเรา เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราทราบไหมค่ะ ว่าอะไรคือ งานช้างของเรา และอะไรที่ไม่ใช่ และเราต้องการเป็นผู้นำละครสัตว์ หรือปล่อยให้ละครสัตว์มานำและควบคุมชีวิตเรา และขอขอบคุณ ผู้นำที่ดีที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของดิฉัน เป็นทั้งหัวหน้าและเป็นทั้งโค้ช เธอชื่อ Laurie Lofgren ผู้ที่ให้หนังสือดีๆ กับดิฉันมากมายหลายเล่มในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันสำคัญใดๆ รวมถึงหนังสือเล่มนี้ โค้ชที่ดีทำให้เราพัฒนาได้ โดยไม่ต้องถามคำถามเยอะแยะมากมาย แต่รู้ว่าผู้ได้รับการโค้ชชอบที่จะเรียนรู้อย่างไร และสนับสนุนในสิ่งนั้นสม่ำเสมอ เมื่อคิดย้อนไปว่าเรียนเทคนิคการโค้ชที่ไหนดีที่สุด เรียนจากผู้นำที่ดีของดิฉันท่านนี้นี่เอง ผู้บริหารที่เป็นโค้ชที่ดี มักอยู่ในใจของโค้ชชี่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด การโค้ชเริ่มจากสร้างความไว้วางใจ (Trust) แต่เมื่อวางใจแล้ว Trust ที่เกิดขึ้นนั้น ยากที่จะหายไป Suggested Reading: Juggling Elephants – Jones Loflin and Todd Musig (2007) NY.: Penguin Group ©Copyright – All rights reserved.

  • คนพูดน้อย เป็นผู้นำได้ไหม

    ต่างตำราก็ต่างระบุคุณลักษณะที่ดีของผู้นำต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า ตำรานั้นมุ่งความสำคัญไปที่ คุณลักษณะเฉพาะของผู้นำเองที่มีติดตัวมาแต่เกิด หรือพฤติกรรมของผู้นำ หรือ สถานการณ์เป็นตัวกำหนดมากกว่า ว่าเมื่อไหร่ต้องปรับการนำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทุก ๆ ค่าย มักกล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่เหมือนกันอยู่ด้านหนึ่ง นั่นคือในด้านความสามารถในการโน้มน้าว (Influence) จูงใจ กระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชา และทีมงานให้บรรลุผลลัพธ์ และมีความสำเร็จ เนื่องจากการโน้มน้าวมักต้องใช้การสื่อสาร ที่ผ่านมาเราจึงมักมีมุมมองว่า ผู้นำที่ดีต้องมีคุณลักษณะแบบ Extrovert นั่นคือ เป็นคนเข้าสังคมเก่ง ชอบพูด ชอบคุย มักแสดงออกเปิดเผย ผู้ที่มีคุณลักษณะนี้มักจะชาร์จพลังตนเองได้ดีเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คน และได้พูดคุย รวมถึงสร้างมิตรสัมพันธ์ใหม่ ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำที่ดูเก็บตัว คือแบบ Introvert ซึ่งมักจะพูดน้อย เก็บความรู้สึก เมื่อต้องพูดคุยสังสรรค์กับคนที่ยังไม่รู้จักกันดี ก็สามารถทำได้ แต่รู้สึกเหนื่อยเพราะต้องใช้พลังเยอะเป็นเป็นพิเศษ กลุ่มนี้สามารถชาร์ชพลังตนเองได้ดี เมื่อได้อยู่คนเดียว ได้ไตร่ตรอง และได้มีเวลาในการคิดวิเคราะห์ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า “ผม/ฉัน พูดน้อย พูดไม่เก่ง ไม่ชอบสังคม แล้วจะเป็นผู้นำที่ดีได้ไหม” หากท่านเป็นผู้นำที่พูดน้อย ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ลองนึกถึงผู้นำที่ประสบความสำเร็จเช่น บิล เกตส์ และ สตีเวน สปีลเบิร์ก และอีกหลายคน ต่างก็มีความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว ฟรานเชสกา จีโน อาจารย์จาก Harvard Business School และทีมคณาจารย์ในเครือข่ายของท่านที่สนใจในเรื่องนี้ มีความสนใจเป็นพิเศษว่า ผู้นำแบบ Extrovert มีประสิทธิผลมากกว่า ผู้นำแบบ Introvert เสมอไปหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบด้วยว่า ผู้นำที่พูดน้อย สามารถเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลได้หรือไม่ และมีประสิทธิผลในสถานการณ์ใด ทีมของท่านจึงได้ลงมือศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้วิธีการทั้งแบบสำรวจและกลุ่มทดลอง พวกเขาได้คำตอบที่น่าสนใจคือ ผู้นำแบบ Extrovert มีประสิทธิผลที่ดีเมื่อทำงานกับทีมที่เฉื่อยชา ซึ่งเป็นทีมที่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น เพื่อเพิ่มความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้นำแบบนี้ ทำงานกับทีมที่ Proactive นั่นคือ ทีมที่คิดเชิงรุกและกระตือรือร้นอยู่แล้ว ลูกทีมกลับให้ความเห็นว่า อยากให้ผู้นำของเขามีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การรับฟัง และเปิดโอกาสให้ลูกทีมสื่อสารมากขึ้น ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง อาจารย์ฟรานเชสกา จีโน่ ได้ระบุว่า ผู้นำแบบ Introvert ที่ทำงานกับทีมที่กระตือรือร้นและคิดเชิงรุก (Proactive) เป็นทีมงานที่สร้างความสำเร็จได้เหนือกว่า เมื่อเทียบกับทีมที่มีผู้นำแบบ Extrovert ที่ทำงานกับทีมที่กระตือรือร้นเสียอีก และยังพบว่า เมื่อทีมงานกระตือรือร้นและคิดเชิงรุก ทีมงานต้องการผู้นำที่รับฟัง พูดน้อย ๆ ไม่ต้องแสดงความเห็นมาก อย่างไรก็ตาม ท่านได้ชี้ว่า หากผู้นำแบบ Introvert ร่วมงานกับทีมที่เฉื่อยชา ก็ควรปรับตัวให้กล้าพูด ตรงไปตรงมา และสื่อสารบ่อยขึ้น นำจุดแข็งออกมาใช้ เช่น การที่ท่านยินดีจะรับฟังทีมงานอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ การพัฒนาผู้นำแบบ Introvert ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้นำเอง และต่อองค์กร จึงไม่ควรมองข้ามว่ากลุ่มนี้เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มที่พูดน้อยมีแนวโน้มที่จะคิดวิเคราะห์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อึดกว่า ในการประชุม ปรึกษาหารือกัน จึงต้องถามคำถามกระตุ้นให้กลุ่มนี้แสดงความคิดเห็นออกมา การพัฒนาผู้นำแบบ Extrovert ควรเน้นไปที่ทักษะการรับฟัง การเป็นโค้ช และความเข้าใจในลูกทีมที่มีคุณลักษณะ Introvert สำหรับการพัฒนาผู้นำที่มีคุณลักษะณะ Introvert ในด้านการสื่อสาร ควรเปิดโอกาสให้เขาหรือเธอตระหนักในจุดแข็งของตนเอง และฝึกปฏิบัติโดยใช้สถานการณ์จำลองเพื่อเสริมความมั่นใจในสถานการณ์ที่ท้าทายต่าง ๆ โดยสรุปแล้ว คนพูดน้อยก็เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลได้ การพูดน้อย ไม่ใช่ไม่ดีเสมอไป เพราะในการสื่อสารที่ดีนั้น มีทั้งการพูดและการฟัง และหนึ่งในคุณสมบัติของการสื่อสารที่ดีคือ “Less is more” นะคะ ทำแบบประเมินทักษะ Think on Your Feet© ©2022 - ACCOMM GROUP Contact us: info@aclc-asia.com www.aclc-asia.com

  • Creating a Culture of Psychological Safety การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางจิตใจ

    Psychological Safety หรือความปลอดภัยทางด้านจิตใจ คืออะไร และเพราะอะไรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเรียนรู้ นวัตกรรม และการเจริญเติบโตของบุคลากร ทีมงาน และความสำเร็จขององค์กร ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แอคคอมกรุ๊ปได้รับความไว้วางใจจากทั้งองค์กรในประเทศ และในต่างประเทศ ให้ทำการประเมินระดับความปลอดภัยทางด้านจิตใจ และจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้กับผู้บริหารและทีมงาน เพื่อเร่งสร้างวัฒนธรรมในด้านนี้ ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า Psychological Safety คืออะไร และไม่ใช่อะไร Psychological Safety ไม่ได้หมายถึง การยินยอมกับผลงานที่ต่ำกว่าความคาดหวัง อยากพูดอะไรก็พูด ไม่ต้องแคร์ใคร แสดงอารมณ์ออกมาตามอำเภอใจ หัวหน้ามอบหมายงาน และปล่อยปละละเลย เสี่ยงทำอะไร โดยไม่คิดพิจารณาก่อน และหวังว่าผลที่ออกมาจะดีเลิศ การทำงานที่ปราศจากความไม่สบายใจทั้งปวง Psychological Safety หมายถึง การสร้างพื้นที่หรือสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารที่ตรงไป ตรงมา เปิดเผย บรรยากาศที่คนรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม และเสนอไอเดีย บรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้คนกล้าเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ทดลองฝึกปฏิบัติ โดยไม่ต้องกังวลกับการถูกตำหนิ หรือทำให้ขายหน้าหากมีความผิดพลาด Psychological Safety อันที่จริงแล้ว คือการเพิ่มพูนผลการปฏิบัติงาน (Maximize Performance) และการลดความกลัว (Minimize Fear) ผู้นำทุกระดับ และของทีมต่าง ๆ ในองค์กร เป็นส่วนที่สำคัญในการสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริม Psychological Safety ทีมวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อ ทีมงานที่มีประสิทธิผลสูงมีอะไรแตกต่างจากทีมงานทั่วไป ของบริษัทกูเกิล ภายใต้ชื่อโครงการแอริสตอเติล ได้พบกว่า Psychological Safety คือด่านแรก ของการปลดปล่อยปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเป็นเลิศของทีมงาน หากไม่มี Psychological Safety ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความมุ่งมั่นในการทำงานให้ลุล่วง หรือการรับรู้ถึงการได้รับงานที่มีคุณค่า จะไม่เกิดผลใด ๆ ต่อประสิทธิผลของทีม องค์กรและผู้นำในระดับต่างๆ สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยด้านจิตใจให้กับทีมงานและองค์กรของตนได้อย่างไรนั้น มักต้องเริ่มด้วยการประเมินบรรยากาศในปัจจุบันก่อน และตั้งเป้าหมายในการพัฒนาไปด้วยกัน Psychological Safety เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร และตัวเร่งผลด้านนวัตกรรม ที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องการความมีส่วนร่วมของคน และความร่วมมือระหว่างทีมที่ปราศจาก Silo-mindset ความคล่องแคล่วต่อการเปลี่ยนแปลง และความกล้าหาญที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ความกล้าคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม © AcComm Group

  • A Brain-Friendly Workplace บรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรกับสมอง

    การศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ ระบุไว้ว่าสมองคนเรามีน้ำหนักประมาณ 1.2-1.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเพียงสองเปอร์เซ็นต์ของร่างกาย แต่สมองใช้พลังงานมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ องค์กรต่างๆ พยายามออกแบบสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้บุคลากรได้ใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่ และมีความสุขในการทำงาน ในการทำงาน บุคลากรมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหลากหลาย ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกค้า ดังนั้นถึงแม้ที่ทำงานจะได้รับการจัดระบบระเบียบต่างๆ ให้เป็นรูปแบบธุรกิจก็ตาม แต่สมองก็ยังทำงานในเชิงสังคม และเมื่อบรรยากาศในการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของสมองในเชิงสังคม ประสิทธิภาพด้านความคิดและความรู้สึกเชิงบวกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย หากอิงจากการศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ มีการอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ ระบบลิมบิค (Limbic System) เป็นส่วนของสมองซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ และยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความทรงจำในทุกๆ ปฏิสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งของระบบลิมบิคที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala) ทำหน้าที่ตัดสินสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ออกมาด้านใดด้านหนึ่ง นั่นคือเป็นผลดี หรือเป็นภัยคุกคาม และเมื่อสถานการณ์ตอกย้ำว่าเป็นภัย จะบันทึกความจำและประสบการณ์นั้นไว้ ส่งผลให้คอยระแวดระวัง รวมถึงระแวงต่อเหตุการณ์ที่คล้ายหรือใกล้เคียงกันในเวลาต่อมา การโต้ตอบของสมองต่อสถานการณ์นั้นๆ ในเวลาต่อมา มักจะโต้ตอบแบบทันควัน ไม่ทันได้ไตร่ตรองอย่างดีก่อนว่าเป็นคนเดียวกัน หรือสถานการณ์เดียวกันหรือไม่ ซึ่งการโต้ตอบมักจะถูกจำกัดอยู่สามแบบคือ ลุยเลย หลบหลีก หรือนิ่งอึ้ง ทำอะไรไม่ถูก หากจะอธิบายแบบเห็นภาพชัดๆ ขอยกตัวอย่างเช่น หากในอดีต เราเคยพูดคุยกับใครบางคน ที่ไม่ให้เกียรติเรา หรือแสดงการต่อต้านเราอย่างชัดเจน สมองส่วนอมิกดาลา ก็จะจดจำประสบการณ์และรายละเอียดไว้ และเมื่อใดก็ตามในวันข้างหน้า ที่บังเอิญเรามาอยู่ในสถานการณ์ที่มีสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกับครั้งก่อน เช่น บุคลิกของคนที่เราคุยด้วยคล้ายกับคนเดิม แต่งตัวแทบจะเหมือนกัน บรรยากาศรอบๆ ก็เหมือนกับครั้งก่อน คำพูดขึ้นต้นมาก็คำเดียวกัน ถึงแม้ในปัจจุบันบุคคลที่คุยกับเรา ไม่ใช่คนเดิม และไม่มีเจตนาเหมือนครั้งก่อน อมิกดาลา ก็จะอ่านสถานการณ์อย่างรวดเร็วว่า เราอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย และส่งผลให้เรามีพฤติกรรมโต้ตอบบุคคลในปัจจุบันแบบตั้งการ์ด หรือไม่อยากคุยด้วย รีบๆคุยให้จบไป ประสบการณ์เชิงสังคมที่สมองมักตัดสินว่าเป็นภัยมากกว่าปลอดภัย เช่น เกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจน การปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม สั่งควบคุมโดยไม่ให้ทางเลือก การถูกเปรียบเทียบแบบไม่มีที่มาที่ไป การสื่อสารแบบไม่ให้เกียรติ เช่น ดุด่า คำพูดดูถูก หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่อีกฝ่ายใช้อารมณ์โกรธ เสียดสี กระแทกกระทั้นในการสนทนา สมองส่วนที่เรียกว่า สมองส่วนเปลือกหน้า (Prefrontal Cortex) เป็นส่วนที่สำคัญต่อความสามารถในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การไตร่ตรอง การวิเคราะห์สัมพันธภาพ และใคร่ครวญเป็นเหตุเป็นผล คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาของการตัดสินใจ หากคนเราได้ใช้สมองส่วนนี้อย่างเต็มที่ในที่ทำงาน ก็จะทำให้ความคิดโลดแล่น มองปัญหาเป็นโอกาส จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากได้โดยไม่ใช้อารมณ์ อย่างไรก็ตามสมองส่วนนี้ถูกสกัดกั้นการทำงานได้ เมื่ออมิกดาลา (Amygdala) อยู่ในภาวะระแวง หรือตีความสถานการณ์ว่าเป็นภัย ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัดสินว่าปลอดภัย สมองส่วนเปลือกหน้าก็จะไม่โดนรบกวน หลากหลายองค์กรจัดสรรให้มียิมสำหรับออกกำลังกาย ตกแต่งสถานที่ทันสมัย สวยงาม มีโต๊ะทำงานและห้องประชุมหลากหลายรูปแบบให้พนักงานเลือกใช้ได้ แต่ทำไมยังไม่สามารถทำให้พนักงานผูกพันกับงานได้ หรือสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับสมองได้อย่างเต็มที่ เมื่อหันมาดูการสื่อสารของหัวหน้ากับลูกน้อง เช่น หัวหน้าใช้คำพูดบั่นทอนจิตใจ ใช้อารมณ์กับลูกน้อง นอกจากอาจจะส่งผลให้สมองของลูกน้องตื้อตัน คิดอะไรไม่ออกแล้ว อันที่จริงก็ไม่ส่งผลดีต่อหัวหน้าด้วย เพราะเมื่องานไม่เดิน หรือไม่ทันกาล หัวหน้าก็ต้องรับภาระมาทำเองอยู่ดี และเมื่อแสดงความโกรธใส่ลูกน้องบ่อยๆ ลูกน้องหลบเลี่ยงไม่อยากให้ Feedback กับหัวหน้า บ้างก็หาเหตุผลในการลาออกไป หัวหน้าก็ไม่เกิดการพัฒนาใดๆ และต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสอนคนใหม่ตลอดเวลา สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อสมอง ต่อความคิดสร้างสรรค์ เมื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดสรรให้น่าอยู่แล้วก็ลืมไม่ได้ว่าต้องพึ่งการปฏิบัติของหัวหน้าต่อลูกน้องด้วย เช่น การสื่อสารความคาดหวังให้ข้อมูลการทำงานที่ชัดเจน การให้ Feedback ที่ตรงไปตรงมาแต่ให้กำลังใจ การสื่อสารอย่างให้เกียรติ และให้มีส่วนร่วม มีอิสระในการร่วมคิดร่วมทำบ้าง สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสมอง (Brain-friendly Workplace) สามารถช่วยให้บุคลากรในทุกระดับมาทำงานด้วยความรู้สึกวางใจ มีความสุข มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน และได้ใช้ความสามารถและสมองที่ทรงพลังในการผลิตผลงานดีๆ ให้ทีมของตนและองค์กร “ที่ทำงานที่เป็นมิตรได้ทั้งพลังความคิดและได้ทั้งใจ ที่ทำงานที่เป็นภัยนอกจากไม่ได้ใจแล้วยังได้งานเพียงน้อยนิด” - ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ © Copyright – All rights reserved. ท่านสามารถแชร์ข้อมูลนี้ได้ เพื่อการพัฒนาตนเองและทีมงาน หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป ข้อห้าม***** ห้ามนำไปใช้ในการสอนหรืออบรมโดยวิทยากรที่ไม่ได้รับการรับรองจากแอคคอมกรุ๊ป ห้ามนำข้อมูลไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ หรือสินค้าและบริการอื่นๆ หากท่านต้องการสอบถามเพิ่มเติมในการนำข้อมูลไปใช้ กรุณาติดต่อแอคคอมกรุ๊ปได้ที่ info@aclc-asia.com

  • A Good Coach and A Great Coach

    A good leader-as-coach will give time to coach, but a great leader-as-coach will make these given times purposeful. A long time ago, coaching was an intervention to fix someone's behavioral or work problems. Without a remedy, the person may cause damages to others, teams, organizations or themselves. Today, people leverage coaching in many profound ways. An engaging coaching conversation can bring notable and positive changes to someone’s business game and personal life. The impact of coaching has been so eminent that its tools and techniques are continually developed and advanced each year. Each month, thousands of organizations’ leaders are interested in the key to effective coaching. There are also significant numbers of people turning their corporate careers into professional coaches. The purpose of coaching within the organization is unique, mainly when leaders and managers apply coaching skills with their team members. From my experience, there is a good leader-as coach and a great leader-as-coach. The good one gives time to coach others, asks good questions, tries to be present, shuts up, and listens. The great one does much more than that, and of course, with a great purpose. Let’s take Erick as an example. Erick is a highly competent executive who has been successful and well respected by the people in his organization and customers. After having attended a robust coaching skills training, Erick became very passionate about coaching his four direct reports. Soon, one of them will succeed him following his promotion. Erick wants the person to be successful in the new leadership role. Erick invited each of them into a coaching conversation and asked each of them, “What is your self-development goal?” and “How do you envision yourself in this company in the next three years?” Here is what Erick got as outcomes unexpectedly: The first direct report, what he got was a confused smile and silence. The second one gave him the answer; “Well…., I don’t know yet.” The third one said, "I want to develop my team members’ productivity.” His well-intent started to fade away when the fourth person said, "Myself?... I don’t think I need to develop anything. I am currently performing well, and I will continue to do so.” Erick decided to bring this up to his executive coach. During their conversation, Erick came to realize that his subordinates were so honest. They could have provided much more satisfying answers to please Erick’s ears, but they didn’t. If they did, wouldn’t it still be doubtful if those were good coaching purposes for his subordinates and the organization's greater good? A good leader-as-coach gives time to coach their employees. A great leader-as-coach engages the employees to align some of their passion and potentials with the organization’s purposes. Although Erick can make time to coach his direct reports, they don't have time for everything. People have more than enough to handle day by day. A purposeful coaching conversation between leader and subordinate is necessary for the coachee to make time and everything possible for any unlearn-relearn mindset and meaningful actions. The very first questions that Erick needs to ask himself, for instance, “What can I do to engage my coachee better?”, “In today’s constant changes, can my team members articulate where the organizations are going and why we are going there?” “Without that knowledge, will they be able to make a long-term positive impact on themselves and organizations? Then, the very first alternative questions for his subordinates could be: Here is what I am passionate about learning these days…….., what about you? Let me learn from you too, tell me freely about your passion……… Which of your talents or strengths do you often receive compliments from others? How do you currently apply your strengths to contribute to your team? The conversation “what we do now and what we aim to do next or in the future” can trigger his subordinates’ thinking about their self-development, their contributions and its real purpose. So, the next step in this coaching conversation sounds like this: "Let's move our discussion to a bigger picture and see if my insights might be useful to you. What is your thought about where we are going? (Organization Direction)” What might be your answers if a subordinate asks you “Why are we going there? (Impact to the Larger Context)" “Who do you feel are our main stakeholders today?” “Who might be our main stakeholders in the future?” “What should be some of our future leader’s competencies - for him/her to answer these stakeholders’ needs effectively?” Erick could also provide some examples of expected competencies of their organization's future leaders. Leaders should not be confined by questioning principles. Erick could further the discussion into their self-development part now, for instance: “Which ones of these competencies are you passionate about developing?” “Which ones of them have been your strengths?” “How can I help you contribute your strengths (and passion) more?” “Which ones of them would you like to become better at?” A good leader-as-coach helps employees discover their potentials. A great leader-as-coach aligns the employees' passion and potentials with the organization’s purposes. Anna, a Managing Director, succeeded her uncle, who retired a few years ago. They own a Herbal Products Manufacturing Company. When she took over her uncle’s responsibility, the company was expanding in both markets and production capacity. Daily operational problems became inevitable and kept coming to her attention. Anna was particularly concerned that the department managers do not talk to each other very much. When collaboration is low, she wonders how much innovation people can bring into the current marketing and production problems, and most importantly, get them solved for long-term results. Gradually, people in each department were following their leaders’ behaviors. They talked nicely about vacation and kids, but they didn't discuss work issues and different ideas. Anna made an effort to advise each of them one by one to hold a collaborative meeting once a week to share insights and solve the issues for today and the long run. Not a surprise to Anna, each manager came to the meeting, but only the two senior managers talked. The rest of them were disciplined listeners. Having discussed with her executive coach, Anna had the “Aha Moment!” that a good leader-as-coach values participation and collaboration as a way to get problems solved. However, a great leader-as-coach creates a mechanism for collaboration to flourish without the interference of "fear." Anna asked herself first, "Is my team aware; what is important to us as a team today?" "Are they behaving unconsciously according to the outdated purpose or the updated purpose?” and “Well, what is our today’s purpose, really!” Anna firstly sat down with each of them to understand “what he/she sees as common importance as a team?” Surprisingly, she found her uncle's legacy and shadow management style - "Commanding and Controlling" in their explanations. She then started the team coaching process aiming to define together “What are joint purposes for us as a team that will enable us to achieve our short and long-term goals together?” She coached them to think critically through these coaching conversations. She also awarded the ones that made the most mistakes in sharing ideas. By doing so, she has created an environment of psychological safety for everyone to speak up. “What would we like to achieve?” “To achieve them, what should be our core purpose?” “How could we express our core purpose better?” “What behaviors that we have as a management team can be associated with this core purpose?” “What behaviors that we have as a management team do not align with our core purpose?” “What are we going to do with these gaps as a management team?” “What are the behaviors that we need to leave them behind?” “What will we motivate each of us to make this real?” “How will we remind each other of our core purpose?” “What kind of culture will we have when we enact our core purpose day-to-day?” She delightfully sensed the positive energy during this conversation. More importantly, she witnessed their re-directed energy from the fear mode & self-protection to the courage & common purpose, shared goals, and performance improvement. Coaching can move people from either the panic and comfort zone into the learning zone. Well-designed coaching can also lead to coach-coachee independence eventually. At the team level, team leaders, with great coaching purposes, can lead the teams from "where they are today" to "where they can be," not just only to "where they want to be." At the organization level, constant changes require organizations to adapt and innovate. In fact, organizations do not adapt; their people need to adapt for the successful organization's changes or transformation. The unprecedented changes in the environment make it more challenging for people to keep up with the speed of changes. Without clarity and well-connected purposes, our brains identify the situation as a risk and stop us from moving forward. For people to adapt quickly today, a good leader-as-coach will give time to coach, but a great-leader-as-coach will make these given times purposeful. A good leader-as-coach has good intention to coach, but a great leader-as-coach creates an impact of your coaching intention. What about you? What is your coaching purpose? Is the coaching conversation with your team purposeful? Are you a good leader-as-coach or a great leader-as-coach? About the author Atchara Juicharern (Cara) is one of Marshall Goldsmith's 100 Coaches and a person among the 2021 longlist of the Thinkers50 Coaching and Mentoring Award in partnership with 100 Coaches. She is the founder and CEO of AcComm Group. Atchara is an Executive Coach, Coaching-Skills Master Trainer, Author, and Speaker. She has been helping leaders and managers navigate their teams and organizations in times of change effectively. ©2022 - ACCOMM GROUP Contact us: info@aclc-asia.com www.aclc-asia.com Infographic of Good Coach and Great Coach Download ภาษาไทย Download (English)

  • ครั้งแรกของคนไทย ติดอันดับหนึ่งในห้าสิบ Thinkers ระดับโลก ในสาขา Coaching and Mentoring

    เป็นครั้งแรก ที่คนไทยได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัลนี้ที่จัดขึ้นทุกสองปีโดย Thinkers50 ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดอันดับนักคิดด้านการบริหารจัดการในระดับโลก Top 50 ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด การจัดอันดับจะแบ่งออกเป็นสาขาในด้านการบริหารจัดการต่างๆ เช่น ด้านยุทธศาสตร์ ด้านนวัตกรรม ด้านการค้นพบแนวคิดใหม่ ด้านดิจิทัล เป็นต้น สำหรับรางวัลที่ ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ (CEO – แอคคอมกรุ๊ป) ได้รับการเสนอชื่อ อยู่ในสาขารางวัล Distinguished Achievement in Coaching and Mentoring ซึ่ง ดร. อัจฉรา ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในห้าสิบสุดยอดโค้ชผู้บริหาร และวิทยากรที่พัฒนาทักษะการโค้ชและภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโค้ชผู้บริหารคนไทย และสตรีจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญให้เข้าสู่หนึ่งในห้าสิบของผู้ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของกรรมการในระดับโลก ดร. อัจฉรา ให้ความเห็นว่า “การได้รับโอกาสนี้ ทำให้เราเข้าถึงการเรียนรู้จากนักคิดด้านบริหารจัดการในระดับโลก ได้เข้าถึงนวัตกรรม แนวคิด และการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งในปีนี้ Thinkers50 เน้นไปที่เรื่อง Ideas with Purpose ถือว่าเป็นปีที่ดีสำหรับวงการโค้ชผู้บริหาร เพราะแสดงให้เห็นว่าศาสตร์การโค้ชได้รับการยอมรับว่าสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรและสังคมโดยรวม ซึ่งต้องขอบคุณ ดร. มาแชล โกลด์สมิท (Marshall Goldsmith) กูรูอันดับหนึ่งที่ทำให้การโค้ชเป็นที่ยอมรับในระดับนี้” สำหรับการมาพบกันของนักคิดระดับโลกจากประเทศต่างๆ ที่จัดขึ้นโดย Thinkers50 ในปีนี้ เน้นไปที่หัวข้อการแบ่งปันความรู้ในด้านต่อไปนี้คือ การสร้างวัฒนธรรมความอยากรู้อยากเรียน (Creating a Curious Culture) การสร้างองค์กรแห่งความกล้า และปราศจากความกลัว (Fearless Organization) การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ปลอดภัย (Psychological Safety) ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรม ที่จะช่วยให้องค์กรรับมือและใช้โอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสิ่งที่คาดการณ์ได้ หรือสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่อาจยังไม่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาก่อน อย่างเช่น การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เป็นต้น ดร. อัจฉรา ได้กล่าวถึง ไฮไลท์ของงานประชุมในปีนี้คือ การตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ในการคิดและพัฒนาสิ่งใดก็ตาม โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยี เราควรจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วย นั่นคือ Diversity & Equality, Sustainability, Ecosystem และการสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม และอนาคตของมนุษยชาติ เราไม่ควรคิดแบบนี้ เช่น “วันนี้แผนกฉันสร้างอาวุธในการบริหารอย่างหนึ่งขึ้นมา แต่สิ่งนั้นจะไประเบิดที่ไหน ฉันไม่สนใจเพราะไม่ใช่หน้าที่ฉัน เป็นหน้าที่ของอีกแผนกที่ต้องคิด” เพราะทุกอย่างจะกระทบถึงกันหมดในที่สุด เราต้องคิดได้ทั้งแบบ “Nowist” และ “Futurist” ให้มากขึ้น ในด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ผู้นำในทุกระดับ มีความสำคัญ เพราะผู้นำสร้างได้ทั้งปัญหาและโอกาสให้กับธุรกิจ และไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือบุคลากร เราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้อย่างสบายใจ ถ้าเราสร้างสมดุลให้ตนเองในสามเรื่องนี้ให้ดี “Lead, Learn, and Earn” ดร. อัจฉรา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราพัฒนาผู้บริหารทั้งผู้ที่มีประสบการณ์ในองค์กร ที่มีอายุมากกว่าสี่สิบห้าปีขึ้นไป ไปจนถึงอายุมากกว่าหกสิบปี รวมทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่อยู่ในช่วงอายุ 28 – 38 ที่สร้างความสำเร็จให้องค์กรได้อย่างน่าชื่นชม คนที่ประสบความสำเร็จได้เร็ว ไม่ว่าจะอายุเท่าใด มักจะมีคุณสมบัติตรงกันอย่างหนึ่งคือ ความชอบในการเรียนรู้อยู่เสมอ” สำหรับในด้านรางวัล ดร. อัจฉรา มองว่า “อันที่จริง บ้านเรา คนไทยเรา มีคนเก่ง เยอะมาก และเชื่อว่าในอนาคต คนไทยจะได้รับการจดจำในด้านการเป็นนักคิด นักพัฒนา (Thinkers) มากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือ ไอเดียดีๆของเรา จะสื่อออกไปอย่างไร ให้สะท้อนไปได้ไกลถึงสายตาของนานาชาติ ประการแรกคือ คิดแล้วต้องทำเลยให้เกิดผล อย่าคิดว่า ‘ยาก ทำไม่ได้’ ปัจจุบันไม่มีอะไรที่ยากอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เวลาเรียนรู้เรื่องใหม่ แค่เปิดใจยังไม่พอ แต่ต้องปิดปุ่มความกลัวพลาดและการผลัดวันประกันพรุ่ง สำหรับทักษะใหม่ๆ ตอนแรก มักจะดูเหมือนยากเสมอ แต่พอทำไปสักพัก เราจะสัมผัสได้ถึงความก้าวกระโดดของทักษะ ประการที่สองคือ ต้องสร้างเครือข่ายที่ดี ที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมกันและกันในด้านการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ” ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ หรือเป็นที่รู้จักในนาม อาจารย์เจี๊ยบ จบการศึกษาระดับมัธยม จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายศิลป์-ภาษาเยอรมัน ระดับปริญญาตรีจาก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่เมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี ต่อมาได้เข้าทำงานที่สายการบินนอรธ์เวสต์ เริ่มจากเป็นแอร์โฮสเตส เป็นวิทยากรภายใน และได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็น Base Manager ของสาขาประเทศไทย รวมถึงได้รับมอบหมายให้นำโครงการพัฒนาภาวะผู้นำในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ในระหว่างที่ปฏิบัติงานที่มากับการเดินทางบ่อยเป็นพิเศษ เพราะความรับผิดชอบในระดับภูมิภาคของทั้งสองหน้าที่ เธอได้เรียนต่อไปด้วย ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยในระดับปริญญาโท จากคณะภาษาและการสื่อสาร ซึ่งเธอได้รับรางวัลผลการเรียนดีเด่น และศิษย์เก่าดีเด่น และในระดับปริญญาเอก Doctor of Philosophy Program in Development Administration (International) เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า งานกับการเรียนรู้ไปด้วยกันได้ เธอยังได้รับรางวัล “ผู้จัดการยอดเยี่ยม” ระหว่างปฏิบัติงานที่สายการบินอีกด้วย ปัจจุบัน นอกจากบริหารแอคคอมกรุ๊ปแล้ว ดร. อัจฉรา ยังคงทำงานที่เธอรัก ทั้งการสอนและการโค้ช แอคคอมกรุ๊ป ประกอบด้วยสองบริษัทคือ แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล และ ลีดเดอร์ชิพแอนด์โค้ชชิ่งโซลูชั่นส์ ให้บริการลูกค้าและองค์กรทุกขนาด มากว่า 15 ปี ในด้านการพัฒนาผู้บริหาร พัฒนาบุคลากร ทีมงาน และองค์กร นอกจากนั้นเธอยังได้พัฒนาระบบนิเวศน์ของการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ในอัตราที่ทำให้ทุกองค์กรเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาได้ ขยายโอกาสการเรียนรู้ให้ทั่วถึงทุกๆคนในองค์กร และขยายไปสู่สังคมที่พร้อมต่อการเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ โปรแกรมการเรียนรู้ที่เป็นที่กล่าวถึงของแอคคอมกรุ๊ป อย่างเช่น Leader and Manager as Coach, Think on Your Feet®, Teams and Organization Navigation™, Virtual Leadership™, Coaching Essential and Principles Certificate Program สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาจารย์เจี๊ยบ ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ ผลงานของเธอ แหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ และแอคคอมกรุ๊ป สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.aclc-asia.com *******************************

  • Creating a Learning Culture - Lifelong Learning

    บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ Creating a Learning Culture การสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งมั่น และต่อยอดการเรียนรู้ (Learning Culture) จะช่วยสร้างพื้นฐานอันแข็งแรง ให้บุคคลและองค์กร ในการรับมือกับความซับซ้อน (Complexity) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างราบรื่น ปรมาจารย์ชื่อดัง Peter Senge ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Fifth Discipline: The art and practice of the learning organization ได้ย้ำความสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ต่อความยั่งยืนขององค์กร ในยุคที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) การเพิ่มทักษะ (Upskill) และ การปรับทักษะให้ทำงานที่แตกต่างจากเดิมได้ (Reskill) กำลังเป็นหนึ่งในวาระสำคัญอันดับต้นขององค์กรทั้งในปัจจุบัน และในวิถีชีวิตถัดไป (The Next Normal) องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ Peter Senge ได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ 1990 จึงกลับมาได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ปรมาจารย์ Senge ท่านมองในระดับบุคคล ทีม และองค์กร สำหรับดิฉัน คำว่า Learning Culture ในบทความนี้ดิฉันขอมองลงไปในระดับทีมก่อน เพราะการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ดูเป็นเรื่องใหญ่และใช้เวลา แต่ถ้าเรามองแบบสร้าง Quick Win ก่อน คือแต่ละทีมให้ความสำคัญและมุ่งสร้าง Learning Culture ก็จะกลายเป็นพลังร่วมในที่สุดได้ ความหมายของ Learning Culture คำว่า วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ดิฉันให้คำนิยามว่า เป็นวัฒนธรรมของทีมหรือกลุ่มบุคลากรที่ได้รับการปลูกฝังให้ มีความอยากรู้ อยากเรียน (Curiosity) และได้รับการสนับสนุนจากผู้นำองค์กร ผู้นำทีม มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และได้รับการส่งเสริมด้วยค่านิยมขององค์กร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ สมรรถนะที่ทันกาลต่อการเปลี่ยนแปลง และผลสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร เป็นส่วนที่ช่วยให้ Organizational Culture ขยับไปให้ทันกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะวัฒนธรรม (Culture) เมื่อฝังแน่นแล้ว ย่อมเปลี่ยนยาก โดยเฉพาะในช่วงที่องค์กรมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ การสร้าง Learning Culture มีประโยชน์จริงหรือ การศึกษาจากสถาบันและองค์กรในระดับสากล มากมายที่ยืนยันว่า ไม่เสียหลายแน่นอน มีผลการศึกษาที่รวบรวมไว้โดยหนังสือชื่อว่า ATD’s Foundation of Talent Development ว่าองค์กรที่มี Learning Culture เป็นองค์กรที่มีผลงานเหนือคู่แข่งจริง ทั้งในด้าน การเงิน การปฏิบัติการ และความพึงพอใจของบุคลากร องค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในระดับสูงแล้ว บุคลากรโดยเฉลี่ยมีผลิตภาพมากกว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมด้านนี้ในระดับต่ำกว่า ถึง 37% มีความสามารถในการสร้างและส่งมอบคุณภาพของสินค้าได้มากกว่า 26% และ มีแนวโน้มที่จะมีทักษะที่จำเป็นต่อธุรกิจมากกว่า 58% โดยสรุป Learning Culture สามารถส่งผลดีต่อ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ผลิตภาพ (Productivity) และ ผลกำไร (Profit) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ Learning Culture จะให้ความสำคัญกับทั้งสี่ด้านดังต่อไปนี้ 1. บรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้: อย่างแรกที่เราดูได้คือ ในวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือค่านิยมองค์กรมีการระบุความสำคัญของการเรียนรู้ การพัฒนา หรือการปรับปรุง ไว้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ถ้าเราไปเปิดดูวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างเช่น Amazon, Apple, 3M, Nike เราสามารถเห็นได้ว่า มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนา ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อมีทิศทางที่ชัดแล้ว มีการสื่อสารให้บุคลากรทราบมากน้อยแค่ไหน ว่าเรื่องการเรียนรู้เชื่อมโยงและส่งเสริมยุทธศาสตร์องค์กรอย่างไร หากทำได้ดี ทีมงานต่างๆก็จะให้เวลากับการเรียนรู้ทั้งในทีม และระหว่างทีม ไม่ต้องคอยพวงหน้าและระวังหลัง ว่าหัวหน้าฉันจะตัดคะแนนฉันหรือไม่ 2. ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้: มีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการสร้างสมรรถนะ Learning Agility ให้กับบุคคล (ความหมายของ Learning Agility ติดตามได้ในบทความเรื่อง Learning Agility) และช่วยอบรมให้เข้าใจว่า จะนำการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร 3. บทบาทของผู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้: บทบาทของผู้นำทีมจะมีความเป็นโค้ชด้วย องค์กรที่เน้นการเรียนรู้ จะเพิ่มทักษะการเป็นโค้ชหรือการเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้บริหารและผู้จัดการทุกระดับ ผู้นำทีมเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปิดรับและให้ Feedback บุคลากรเข้าใจว่าตนเองต้องพัฒนาอะไร และมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของตนเอง หน่วยงานพัฒนา ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ในการค้นหาสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาและสนใจจะพัฒนา และให้ข้อมูลที่ดี จัดหาสิ่งที่ตรงกับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. การคัดกรองเนื้อหาของสิ่งที่เรียนรู้: พันธกิจด้านหนึ่งของ Google คือ การจัดระเบียบข้อมูลในโลกนี้และทำให้เข้าถึงได้ง่ายในทุกที่และมีประโยชน์ เราสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการสร้างสรรค์และคัดกรองเนื้อหาในการเรียนรู้ในทีมของเราได้ ส่วนผู้ที่เรียนรู้ ก็ต้องมีทักษะการคิดแบบ Critical Thinking เพื่อให้ตนเองคัดกรอง แยกแยะ คัดสรรให้ตนเองในสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ต้องในระยาวด้วย ค้ดกรองผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอด เช่นวิทยากร หรือโค้ชที่เข้ามาช่วยในการเชื่อมการเรียนร้ไปสู่การปฏิบัติ ผู้เรียนควรได้ประสบการณ์ที่ดี มีประโยชน์ต่อทั้งงาน และถ้าจะดียิ่งขึ้นต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัวด้วย จึงอยากเรียนรู้อีก ไม่ควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกแบบนี้ “The day I start learning is the day I quit learning!!!” ควรให้ผู้เรียนรู้สึกว่า “The day I start learning is the day I am so inspired to continue learning.” อุปสรรคและปัญหาของทีมส่วนใหญ่ที่ทำให้ Learning Culture ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าอะไร ข้อแรกมาจาก ภาวะผู้นำของทีม นั่นคือผู้นำทีมเน้นไปที่การสร้างผลงานในปัจจุบันอย่างเดียว ในบทความเรื่องผู้นำตัวคูณ ดิฉันได้เขียนไว้ว่า ผู้นำตัวหารจะมองว่าความสามารถคนว่ามีไว้ใช้งาน ในทางตรงกันข้ามผู้นำตัวคูณ จะมองความสามารถคนว่ามีไว้เพื่อเพิ่มและขยายขีดจำกัด ถ้าผู้นำต้องการให้ลูกทีมใช้เวลาทั้งหมด ไปกับการทำงาน โดยไม่โค้ชและไม่ส่งเสริมการเรียนรู้เลย ในที่สุดแล้วชื่อเสียงของทีมก็จะไม่ดึงดูดคนเก่งที่เป็นคนชอบเรียนรู้เข้ามาทำงานด้วย ถ้าในองค์กรมีทีมแบบนี้เยอะๆ ก็จะมีประสิทธิผลแค่ระยะสั้น แต่ความเสียหายในระยะยาวจะสูงมาก ข้อสองคือ ขาดความรู้สึกปลอดภัยในการเรียนรู้ นั่นคือ คนไม่กล้าลองผิด ลองถูก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น หรือบรรทัดฐานที่เคยเป็นมา เรียกว่าขาดการสร้างความปลอดภัยด้านจิตใจ (Psychological Safety) เช่น เวลาทำงานพลาดครั้งเดียว แต่โดนมองว่าไร้ความสามารถไปตลอด หรือ แสดงความคิดเห็นออกมาแล้วไม่เหมือนคนอื่นๆ แล้วโดนดุจนขายหน้า ถูกเพื่อนๆมองว่าเป็นคนนอกกลุ่ม เป็นต้น ข้อสาม คือบุคลากรไม่มีแรงจูงใจ ที่จะเติบโตและเรียนรู้ การอบรมได้รับการมองว่า เป็นเครื่องมือในการซ่อมแซมผู้ที่มีปัญหา หรือผู้ที่มีผลงานไม่ดี ไม่มีการพัฒนาเชิงรุก หรือถามความสนใจและพรสวรรค์ของผู้เรียน ขาดการสื่อสารว่าสิ่งที่น่าเรียนรู้สำคัญต่อยุทธศาสตร์องค์กรและอนาคตของบุคคลอย่างไร Sustaining A Learning Culture การสร้าง Learning Culture อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เรายังต้องรักษา (Sustain) ไว้ให้ได้อีกด้วย แนวทางในการรักษาไว้คือ ศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อม แนวโน้ม พฤติกรรมของลูกค้า และยุทธศาตร์ขององค์กร ปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้ยังคงสร้างคุณค่าให้บุคคล ทีมและองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง Download บทความ แบบประเมิน Learning Culture และรายละเอียดเพิ่มเติม - click ไปที่ Learning Ecosystem รับฟังการบรรยายเรื่อง Creating a Learning Culture - click Reference: Senge, Peter M. (2006). The Fifth Discipline: The arts & practice of the learning organization. New York : Doubleday. © Copyright - All rights reserved. - AcComm Group

  • A Study: Creating a Coaching Culture; what is meaningful for leaders?

    by Atchara Juicharern, Ph.D. (Cara) To download the report: click In times of rapid change, I believe that coaching is a purposeful practice that serves well and can increase people and teams' agility and adaptability. For organizations to thrive and move forward, simply speaking about high & low adaptability is not sufficient. It is today's imperative for leaders to engage their teams to achieve organizational goals and resilience in times of chaotic movement and change. Teams that are not adaptable and aligned find it challenging to produce sustainable results. Effective coaching is needed for leaders and teams to mutually agree and align team strategy, vision, and values. The purposeful coaching practices can also surface the obstacles and challenges that could impede achieving vision and goals. It can also help teams identify and define the organizations' core values for success. A purposeful coaching culture can substantially improve engagement and performance during periods of change and disruption. The Study: As a trailblazer in creating a coaching culture, Atchara and AcComm Group conducted a study a few years ago to explain and magnify what and how organizations can support leaders and managers to apply coaching with their team members and fulfill their teams' coaching purposes more effectively and productively. Three hundred leaders from 50 organizations from the 20 different industries joined as respondents of this study (Airlines, Banking, Chemical Industries, Insurance, Electronics, Automobiles, Food and Beverages, Telecommunication, Real Assets, Healthcare, etc.). These leaders (respondents) have been trained on coaching's meaning, impacts, and coaching skills. Findings: Some of the Great Opportunities: 80% of leaders (respondents) agree that people in their organizations share the same belief that "Coaching Culture is important to the short and long-term success of their organizations". 76% of leaders (respondents) agree that their organizations are supporting them in applying the proper coaching process that leads to creating a coaching culture. 53% of leaders (respondents) agree that their organizations invest in developing coaching skills for leaders and managers. Some of the Challenges are: Only 35% agree that their organizations assigned a specific person or department to continue creating a coaching culture. Only 32% agree that there is regularly enough corporate communication about coaching. Only 28% agree that their managers support them in continuing their coaching practices; for instance, managers are role models in coaching, and respondents received formal or informal recognitions for successfully coaching someone. Coaching Skills Training: 64% have received 1-3 day coaching skills training 28% have received up to 6 days of coaching skills training High Impact Factors to Effective Coaching-Skills Training The #1 highest impact factor: the instructors The #2 highest impact factor: the learners' commitments What support do I need from my organizations to continue my coaching practice? #1: A clarity of my manager's direction and a clear purpose of my organization #2: Refresher course or support system for continuous learning after the training We hope these findings could help organizations invest in what is meaningful to leaders and managers who are your true drivers of creating a coaching culture. This study explains that; leaders are likely to continue their coaching if the practices align with their organizations' purposes. We are deeply grateful to all leaders and organizations who participated in this study. Your support encourages AcComm Group and me to continue providing the most meaningful coaching approaches to you. Most importantly, it will help us all save hundreds of miles in our effort to expand the coaching opportunities to everyone in your organizations, especially those who need it. To download the report: click About the author: Atchara Juicharern (Cara) is a winner of The Woman Leadership Award and an accomplished leadership and executive coach who has been developing executives and leaders in the organizations to be successful in leadership and coaching. With her passion to support leaders and organizations in creating coaching and mentoring cultures, she often conducts and supports significant coaching studies. She is frequently invited to speak about the coaching trends and the future of coaching in various leadership and HR forums. Her best-selling book "Leader as Coach" is the first Thai language book that brings practical and simplified coaching methods and conversation to leaders and has received a foreword by the world number 1 Coaching Guru and Thought Leader - Dr. Marshall Goldsmith. Contact us: +662 197 4588-9 Email: info@aclc-asia.com www.aclc-asia.com ****************************** (C) Copyright - All rights reserved.

bottom of page