top of page

สร้างพลัง 3R

Updated: Jun 25, 2022

บทความโดย ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ช่วงนี้ธุรกิจซบเซา การค้าการขายชลอหรือหยุดนิ่ง สถานการณ์น่าเป็นห่วงเช่นนี้ ง่ายมากที่เราจะหลุดไปอยู่ในความเครียด ลืมดูแลตนเอง และหากดูแลตนเองไม่ดี ก็ยิ่งทำให้ยากขึ้น ในการที่จะดูแลคนข้างๆ

วันนี้เลยมีเทคนิคแบบโค้ชๆ มาแชร์กัน เพื่อเพิ่มเสริมสมรรถนะที่สำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ยากเย็นครั้งนี้ ซึ่งมี 3R ด้วยกันนะคะ

3R มาจาก Resilience, Reframe และ Reduce ค่ะ


1. Resilience: ถ้าแปลตรงๆ หมายถึง ความยืดหยุ่นแบบหนังสติ๊ก ยืดออกไปแล้วกลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ ถ้าเปรียบเทียบอีกแบบเพื่อเห็นภาพชัดขึ้น คือ เหมือนตุ๊กตาล้มลุก นะคะ ในอดีตเราเห็นตุ๊กตาล้มลุกบ่อยๆที่ปั๊มน้ำมัน เราจะเตะ จะต่อย จะผลักให้ล้มกี่ที มันก็ยังลุกขึ้นมายืนใหม่ได้ทันที

เราจะปลูกและตุนพลังตุ๊กตาล้มลุก Resilience ได้จากที่ไหนบ้างค่ะ ตัวเราเองนี่แหละค่ะ คือแหล่งขุมพลังสำคัญในการปลูก Resilience มีอยู่สามด้านด้วยกัน คือ


ด้านร่างกาย บางท่านอาจจะบ่นว่า ช่วงนี้ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร บางท่านอาจมุ่งลุยงานจนไม่หลับ ไม่นอน อย่างไรก็ตาม หากเจ็บป่วยขึ้นมาก็จะทำให้กระทบทั้งงานของตนเอง และความสามารถในการดูแลครอบครัวได้

ร่างกายคือขุมพลังตุ๊กตาล้มลุกที่ขาดไม่ได้ เราจำเป็นต้องฟิตแอนด์เฟิร์มให้มากๆเลยค่ะช่วงนี้

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ วางแผนดูแลความปลอดภัยที่อยู่อาศัย ทำความสะอาดบ้านหรือโต๊ะทำงานให้น่าดูน่ามอง ดูแลช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อประสานงานได้สะดวก

ด้านความคิด การติดตามข่าวช่วงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่บางทีฟังทั้งวัน ข้อมูลก็ติดอยู่ในหัว สลัดไม่ออก คิดวกไปวนไป ทำให้จมไปอยู่ในความคิดลบ ซึ่งเป็นการสูบพลังตุ๊กตาล้มลุกและความสามารถในการใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา ออกจากตนเองแบบไม่รู้ตัว

เมื่อไหร่ที่ความคิดล้ม แล้วไม่ยอมลุก เราสามารถตั้งคำถามแบบโค้ชๆ ต่อไปนี้ให้ตนเองได้ค่ะ:

  • นอกเหนือจากวิธีที่เคยทำมา เราพิจารณาวิธีการอื่นๆ อะไรได้อีกบ้าง

  • มีบทเรียนอะไร ที่เราน่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ เพื่อการคาดการณ์และเตรียมการในอนาคต

  • เราเตรียมการอะไรได้บ้าง เช่นแผนรับมือ เริ่มจากขั้นตอนเล็กๆก็ได้

  • ปกติแล้ว ที่ผ่านมาในชีวิต เรามีกลยุทธ์ในการเคลื่อนย้ายอุปสรรคต่างๆออกไปอย่างไร

  • ใครที่เรารู้จัก ที่น่าจะเผชิญสถานการณ์คล้ายๆกัน ที่เราน่าจะปรึกษาเขาได้

เส้นทางความคิดในสมองคนเรา คล้ายๆ ถนน ถ้าเราใช้ถนนเส้นใดทุกวัน ถนนนั้นก็จะใหญ่และกลายเป็นทางด่วน ทำให้เราแล่นเข้าไปในเส้นทางนั้นได้ง่ายตลอดเวลา เราจึงต้องกำหนดเส้นทางใหม่ๆที่สร้างสรรค์ให้กับตนเอง และใช้เส้นทางความคิดที่ดีและสร้างสรรค์นั้นบ่อยๆ จนกลายเป็นทางด่วนเส้นใหม่


ด้านอารมณ์ คือความสามารถในการบริหารจัดการกับอารมณ์ของตนเอง เช่น

  • มองสถานการณ์ต่างๆในเชิงบวกบ้าง มีความหวัง

  • การโฟกัสไปยังเรื่องที่เราควบคุมได้

  • เห็นคุณค่าของตนเอง

  • ไม่กลัวที่จะทำหรือเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ถนัด

  • กล้าที่จะออกปากขอคำแนะนำหรือข้อมูลจากผู้อื่น

  • สร้างเครือข่ายที่สนับสนุนกัน และสร้างมิตรภาพดีๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ

  • ลองคุยกับเพื่อนที่ฝึกสมาธิและนั่งวิปัสสนา เพือนกลุ่มนี้มักจะพูดคุยให้เราสบายใจ

  • การได้ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังที่มี หรือสละเวลาช่วยและสนับสนุนสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา เช่นกลุ่มแพทย์และคุณพยาบาลที่งานหนักในช่วงนี้ ได้ช่วยผู้อื่นก็ช่วยให้รู้สึกดีต่อตนเองได้เช่นกัน

เรามักกล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มกันด้านร่างกาย อย่างไรก็ตาม ความคิดและอารมณ์ที่ดีจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเราดียิ่งขึ้น


2. Reframe: คือการสื่อสารเพื่อวางหรือปรับขยับกรอบความคิดให้เป็นอีกแบบ เป็นหนึ่งในเทคนิคที่โค้ชใช้พูดคุย ในยามที่ผู้ได้รับการโค้ชรู้สึกแย่ หรืออยู่ในวังวนของความคิด และความรู้สึกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

การ Reframe ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าจะหายไป ปัญหามันก็ยังอยู่

แต่ Reframe เป็นการตั้งคำถามให้มองสถานการณ์นั้นใหม่ ให้ผู้ที่อยู่ในปัญหารู้สึกว่าเขายังเป็นผู้ที่ควบคุมสถานการณ์ และเป็นผู้ที่เลือกเองได้ เช่น เวลาคนเราคิดไม่ออก โค้ชมักถามว่า

  • ถ้าคนที่คุณชื่นชมว่าเขาเก่งที่สุด มายืนอยู่หน้าปัญหานี้ เขาจะแก้ไขมันอย่างไร

  • ทางเดินไหน ที่ถ้าคุณเลือกเดินแล้ว อีกยี่สิบปีข้างหน้า คุณจะขอบคุณตัวเองในวันนี้อย่างมาก


3. Reduce: ข้อสุดท้ายคือลดการออกจากบ้านช่วงนี้ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐฯ ลดการเข้าสังคม

ลดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนเยอะ เปลี่ยนมาคุยกัน สร้างการสื่อสารที่ให้กำลังใจกันทางออนไลน์แทน ข้อสุดท้ายนี้ไม่มีเทคนิคนะคะ เพราะเรื่องวินัยไม่มีใครสอนใครได้ ต้องใช้จิตใจที่พร้อมจะเสียสละ และความร่วมมือร่วมใจ

ห่างกายไม่ได้หมายถึงห่างใจ ห่างกันเพราะห่วงใย ห่างไกลเพราะร่วมมือ

AcComm Group

www.aclc-asia.com








1,270 views

Comments


bottom of page