สรุปจากการบรรยายหัวข้อ Disruptive Leadership and Leading the Agile Organization
โดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ - AcComm Group จากงาน Thailand HR Forum 2019
ในยุค Disruptive ในการบริหารจัดการ และการเป็นผู้นำ จำเป็นต้องอาศัยมุมมองทั้งแบบ Outside-in คือสำรวจวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมุมมองแบบ Inside-out คือทำอย่างไรจึงจะสร้าง Agile Organization ที่พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนได้เสมอ
Leadership หมายถึง ความสามารถในการนำพาผู้คนจากที่ที่เคยอยู่ ไปยังที่ที่มีศักยภาพจะไปถึงได้ (The ability to move people from where they are to where they can be) โดยทั่วไปผู้นำที่ดีควรเป็นทั้งผู้กำหนดทิศทางขององค์กร (เข็มทิศ) และผู้บริหารจัดการองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมาย (นาฬิกา)
Disruptive Leadership เป็นมากกว่าเข็มทิศและนาฬิกา แต่จำเป็นต้องเป็นนักคิดที่ดีด้วย (Thinker) คือ เป็นนักคาดการณ์ อ่านเกม เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เคยดำเนินมาเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค จากเดิมที่อำนาจอยู่ในมือผู้ขาย กลายมาเป็นอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่
ในอดีตผู้บริโภคต้องซื้อในสิ่งที่ผู้ขายมี แต่เทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น สามารถซื้อหาสิ่งของที่ต้องการที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค ก่อนที่ผู้บริโภคจะรู้ตัวเสียอีก มีโอกาสได้ชัยชนะก่อน
บทบาทของผู้นำแบบ Disruptive ในยุคนี้ จึงต้องตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและค้นหาความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองให้ได้ เพื่อสร้างโอกาสต่อไป หรืออาจเรียกได้ว่าต้องสร้างนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการทดลองและลงมือทำ
ผู้นำจะต้องเปิดใจรับผลซึ่งอาจเป็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ยอมรับสิ่งที่แตกต่างจากความคิดตนเอง และสร้างศักยภาพ เพิ่มความสามารถให้กับทีม
คุณสมบัติของ Disruptive Leaders ได้แก่
Humble - เปิดรับและเป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้
Adaptable - มีความยืดหยุ่นสูง ล้มแล้วลุกได้เร็ว มีความเข้าใจว่าการเรียนรู้สามารถเป็นแบบ S-curve คือต้องอาศัย ระยะเวลาช่วงหนึ่งในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องพยายามไม่ล้มเลิกไปก่อน หลังจากนั้น การเรียนรู้ที่สะสมจะผสมผสานและก้าวกระโดดในช่วงถัดมาได้
Visionary - มองอนาคต ทราบว่าองค์กรควรจะไปในทิศทางใด สื่อสารให้คนเห็นเป็นภาพ
Engaged - สร้างความร่วมมือได้กับทุกฝ่าย
Credit: สรุปเนื้อหาการบรรยายของ ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ เป็นภาพโดย PMAT - Thailand HR Forum 2019
Disruptive Leader นอกจากจะต้อง disrupt ตนเองก่อนแล้ว ยังต้องสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ทีมอีกด้วยเช่น
Assess - ประเมินความพร้อมและความตั้งใจที่จะเรียนรู้และมองธุรกิจในมุมมองของลูกค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
Ask and Listen - พัฒนาความใฝ่รู้ของทีม ส่งเสริมให้เกิดระบบในการเข้าถึงและรับฟังลูกค้า ถ้าคนอยากทำ แต่ระบบไม่เอื้ออำนวย จะทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ช้า ในที่สุดคนจะถอดใจ ถ้าระบบไม่เอื้อ
Reframe - สนับสนุนทีมให้กล้าที่จะวาดภาพในอนาคต คุณค่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาจใช้เรื่องเล่า และสร้างความสนุกสนานโดยการประกวดหรือใช้เกม
Storytelling - เปิดโอกาสให้ทีมแบ่งปันเรื่องเล่า
Engage - เปิดพื้นที่ให้ทีมลองผิดลองถูกเพื่อสร้างการเรียนรู้และบทเรียนทั้งนี้ สร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้นำทุกระดับเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง
นอกจากตัวผู้นำและทีมที่ต้อง Disrupt ตนเองแล้ว องค์กรยังต้องเป็น Agile Organization อีกด้วย เพื่อพร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก
ใน Agile Organizations บุคคลมึความเชื่อร่วมกันเช่น: 1. ทีมเล็กๆ สามารถแก้ปัญหาใหญ่ได้ 2. ทุกคนมุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่าที่สำคัญต่อลูกค้า 3. ตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนทีมให้ร่วมมือกัน ในลักษณะเครือข่ายที่เน้นปฏิสัมพันธ์ (Interactive Network)
องค์กรที่ Agile องค์ประกอบเหล่านี้จะได้รับการปรับให้สอดรับกันคือ กลยุทธ์ (Strategy) โครงสร้างองค์กร (Structure) กระบวนการทำงาน (Process) คน (People) วัฒนธรรมองค์กร (Culture) และเทคโนโลยี (Technology)
ตัวอย่างคุณลักษณะขององค์กรที่ Agile เช่น
การพัฒนากลยุทธ์ไม่ใช่วาระประจำปี หรือทุกๆสามปี แต่เป็น On-going Process
ช่องทางการสื่อสารเปิดกว้าง ให้สามารถเป็นไปได้ทุกทิศทางคือ Top-down และ Bottom-up
ผลิตภาพมาจากการร่วมมือ มากกว่าการควบคุม (Productivity through Collaboration, not through Controlling)
ผู้นำของ Agile Organization ควรมีคุณลักษณะของ Brain-friendly Leadership ได้แก่ผู้นำที่เปิดโอกาสให้คนได้ใช้พลังสมองอย่างเต็มที่โดยปราศจากความกลัว ผู้นำแบบนี้จะทำให้ทีมใช้สมองทุกส่วนเต็มที่ในการทำงาน และแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เอาสมองไว้ที่บ้าน
Agile Leaders สร้างองค์กรที่ปราศจากความกลัวและสร้าง“พื้นที่ปลอดภัย” ให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ผู้นำแบบนี้มักมีมุมมองต่อพนักงาน ในแบบทฤษฎี Y (ของ McGregor) คือมองว่าคนมาทำงาน มีความดีงามในตนเอง มีศักยภาพ โดยธรรมชาติจะตั้งใจทำงานให้องค์กร ถ้ามองแบบนี้ ก็จะมอบความไว้วางใจต่อกัน และสามารถกระจายอำนาจการตัดสินใจ (Empowering) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอว่า ผู้นำ แบบ Servant Leaders เป็นผู้นำที่มีลักษณะในการส่งเสริม Agile Organization โดยคุณลักษณะสำคัญของผู้นำแบบ Servant Leaders ได้แก่ เป็นผู้รับฟังที่ดี (Listening) มีความเข้าใจมุมมองของผู้อื่น (Empathy) สมานสุขภาพความรู้สึก (Healing) การตระหนักรู้ (Awareness) การโน้มน้าวจูงใจ (Persuasion) เป็นต้น
โดยเชื่อว่าหากผู้นำที่สามารถสร้าง “ความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ความคิด” ให้แก่พนักงานได้ จะช่วยให้ทีมไปสู่ จุดมุ่งหมายเดียวกัน และความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งประกอบด้วยความไว้วางใจ ความเคารพซึ่งกัน และความร่วมมือ และนำไปสู่ผลงานที่เยี่ยมยอดขององค์กร ผ่านการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transformation)
โดยสรุป Disruptive Leader ต้องเริ่มจาก Disrupt ตนเองก่อน โดยบทบาทของ Leader นอกจากนำ (Lead) และบริหารจัดการ (Manage) แล้ว ยังต้องเป็นนักคิด (Thinker) ที่ดี จำเป็นต้องค้นหาและเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่สำคัญขององค์กรให้ได้ รวมถึงการประเมินว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแนวโน้มส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าอย่างไรด้วย
บรรยายโดย อัจฉรา จุ้ยเจริญ ในงาน HR Forum 2019 "Disruptive Leader and Leading Agile Organizations" จัดขึ้นโดย PMAT
© AcComm Group - All rights reserved.